นายสุเมธ สุทธภักติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IWIND)บริษัทในเครือ บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า บริษัทได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการให้ บริษัท โกลด์วิน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (GOLDWIN) ผู้ผลิตกังหันลมเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก สัญชาติจีน เข้าถือหุ้นใน IWIND สัดส่วน 10% เพื่อที่จะร่วมเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดยจะมีการเจรจาในรายละเอียดต่อไป
สำหรับข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลดีกับทั้ง 2 ฝ่ายอย่างมาก โดยในส่วนของ GOLDWIN ต้องการที่จะส่ง ซัพพลายกังหันลมเพื่อการผลิตไฟฟ้าเข้ามาบุกตลาดในเอเชีย และมั่นใจแผนของ IWIND ที่กำลังเร่งขยายการผลิตไฟฟ้าพลังงานทั่วเอเชีย
ขณะที่ IWIND ก็จะได้รับผลประโยชน์ด้านซัพพลายกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมร่วมกับ GOLDWIN ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงการถึง 8,000 เมกะวัตต์ (MW) ทั่วโลก
"GOLDWIN ขึ้นมาเป็นซัพพลายกังหันลมสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเบอร์ 1 ของโลกในปีนี้ หลังจากได้ขยายตลาดอย่างหนัก ซึ่งเขาก็เห็นแผนของเราที่จะขยายการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมอย่างมาก จึงเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขยายตลาดเอเชีย และยังยินดีที่จะให้ IWIND เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของเขาซึ่งมีเป้าหมายถึง 8,000 เมกะวัตต์ โดยบริษัทก็จะเลือกดูพื้นที่เหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุน" นายสุเมธกล่าว
ล่าสุด บริษัทยังได้เซ็นสัญญาซื้อกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า กับ GOLDWIN ขนาดการผลิตพลังงานไฟฟ้ารวม 8.965 เมกะวัตต์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เฟส 2 ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และได้รับสินเชื่อจาก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ Exim bankแล้ว โดยมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้า เชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการไฟฟ้าพลังงานลม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เฟส 1 ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่ได้รับรู้รายได้เชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
นายสุเมธ ระบุด้วยว่า ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ บริษัทจะเซ็นสัญญาเข้าซื้อกิจการ บริษัท เอชบีอาร์อี (HBRE) กลุ่มทุนเวียดนาม เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม บริเวณจังหวัดดักลัก (Daklak) ซึ่งเป็นที่ราบสูงตอนกลางของประเทศ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)แล้ว 28 เมกะวัตต์ และจะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 62 เมกะวัตต์ รวมเป็น 90 เมกะวัตต์ มีอัตราผลตอบแทน (IRR) ประมาณ 11% คาดว่าจะขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ไตรมาส 4/59 เป็นต้นไป ซึ่งนับเป็นการเริ่มลงทุนในเวียดนามจากกำลังการผลิตทั้งหมดของโครงการ 210 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามประกาศรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสามารถจำหน่ายไฟฟ้าไปยังประเทศอื่นๆ ได้ ด้วย
ขณะที่ความคืบหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เกาหลีใต้นั้น เมื่อปลายปีทีผ่านมา บริษัทได้เข้าถือหุ้น ร่วมกับ "บริษัท ฮานชิน เอนเนอร์ยี่" ผู้ผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลีใต้ ขนาดกำลังการผลิต 33 เมกะวัตต์ สัดส่วน 30% ซึ่งส่งผลให้มีบริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 10 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการถือหุ้น ล่าสุดโครงการนี้จะได้อัตราการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิม หลังเกาะเจจู ประกาศเป้าหมายปี 2530 เป็นเกาะพลังงานสะอาด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทให้มีรายได้เพิ่มเติมมากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเจรจาเข้าถือหุ้นเพิ่มเป็นสัดส่วน 50% เพื่อดำเนินโครงการโครงไฟฟ้า พลังงานลมอื่นๆเพิ่มเติม
นายสุเมธ กล่าวมั่นใจว่า ปี 2562 จะสามารถขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จากพลังงานลมได้จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้บริษัทกำลังเร่งดำเนินงานอย่างหนักเพื่อทั้งเข้าซื้อกิจการและการพัฒนาโครงการด้วยตนเอง โดยบริษัทจะเน้นการพัฒนาโครงการในต่างประเทศเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันหากนโยบายรัฐบาลมีความชัดเจน บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าดำเนินโครงการในประเทศเพิ่มเติม