สถาบันวัคซีนฯ เผย!!ความสำคัญของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ

พฤหัส ๒๘ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๕:๓๘
แจง! ที่ผ่านมากลไกการบริหารงานด้านวัคซีน ทั้งนโยบายและการบูรณาการขาดความต่อเนื่อง ไม่เป็นเอกภาพ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ ล่าสุดการทำประชาพิจารณ์ผ่านความเห็นชอบแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ คาด! ไม่เกินสิ้นปีพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้ทันที

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ(องค์การมหาชน) กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการจัดทำพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติว่า เนื่องจากกลไกการบริหารจัดการงานด้านวัคซีนของประเทศไทยที่ผ่านมายังขาดความเป็นเอกภาพด้านนโยบาย และการบูรณาการด้านวัคซีนยังขาดความต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินงานตามแผนงานหรือตามการกำหนดของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติระดับนโยบายและระดับปฏิบัติมีปัญหา เพราะกฎหมายในระดับกฤษฎีกายังไม่สามารถให้อำนาจแก่กรรมการที่จะออกระเบียบสนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างราบรื่น หลายหน่วยงานจึงกังวลต่อการตัดสินใจที่จะดำเนินงานด้านวัคซีนเพราะกลัวจะผิดกฎหมาย เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของประเทศ และทำให้การสร้างเครือข่ายด้านวัคซีนและการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม2559 สถาบันวัคซีนฯได้มีการจัดสัมมนาประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ จากประชาชนและผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัคซีน ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้ฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาหลายครั้งและได้มีการปรับแก้มาแล้ว ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา กระทรวงต่างๆ ทางด้านอุตสาหกรรม สภาพัฒน์ รวมทั้ง NGO ซึ่งได้มีการแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งมีข้อกังวลว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเสนอกลไกหรือโครงสร้างอะไรที่เป็นความหวังของประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศด้านการพัฒนาวัคซีนและเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยที่ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยร่วมกันว่าความมั่นคงด้านวัคซีนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ควรมีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาให้ได้ เพื่อให้มีหลักในการกำหนดกลไกการบริการจัดการด้านวัคซีนของประเทศ ให้มีความเป็นเอกภาพ มีความต่อเนื่อง มีความมั่นคง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทั้งนี้จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติฉบับนี้ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในเดือน เมษายน 2559 นี้ เพื่อจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หากไม่มีข้อโต้แย้งที่สำคัญ ก็จะเข้าสู่การนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะมีการพิจารณา 3 รอบ ตามวิธีการออกกฎหมายในปัจจุบัน จากนั้นจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าไม่เกินสิ้นปีกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้

ผอ.สถาบันวัคซีนฯ กล่าวต่อไปว่าเมื่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติมีผลบังคับใช้ จะมีการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญในกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน คนที่1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธานคนที่2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธานคนที่3 กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน15 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน7 คน ซึ่งสรรหาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีผลงานและประสบการณ์ด้านการเงิน การคลัง การแพทย์ ด้านสาธารณสุข ด้านวัคซีน ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านอุตสาหกรรม และมีผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะมีอำนาจในการออกนโยบายความมั่นคงด้านวัคซีน เช่น เสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ออกระเบียบ และกำหนดหลักเกณฑ์ การให้ทุน การส่งเสริม การให้ความร่วมมือ หรือการสนับสนุนเกี่ยวกับวัคซีน ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อการผลิตและจำหน่ายวัคซีนภายในประเทศหรือต่างประเทศ รวมทั้งเสนอแนวทางต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินงานตานโยบายและแผนยุทธศาสตร์ เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ แก้ไขเพิ่มเติม หรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อผลักดันการดำเนินงานด้านวัคซีน

สำหรับสถาบันวัคซีนฯ จะทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและดำเนินการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านวัคซีน เช่น จัดทำร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนผลักดันและดำเนินการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนให้มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ จัดให้มีทุนการวิจัยและทุนอุดหนุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการดังกล่าว บริหารจัดการความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และจัดให้มีฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัคซีนของประเทศ และสนับสนุนการเพิ่มสมรรถนะในการเลือก การรับ และการถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคคลด้านวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดจนจัดตั้งนิติบุคคลหรือเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสถาบันฯ โดยการทำการวิจัยและการผลิตวัคซีน หรือการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีน สถาบันวัคซีนจะดำเนินการก็ต่อเมื่อหน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานภาครัฐหน่วยอื่นไม่สนใจดำเนินการ หรือดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ หน้าที่เหล่านี้ส่วนมากจึงยังเป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานในเครือข่ายวัคซีน

"ที่สำคัญคือเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีนที่ในกฎหมายฉบับนี้ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกัน รักษา หรือลดความรุนแรงของโรค หรือเพิ่มความมั่นคงของประเทศ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดให้มีการผลิตวัคซีน ส่งออกวัคซีนหรือกระจายไปยังผู้ที่จำเป็นต้องใช้วัคซีนนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว รวมทั้งมีบทลงโทษไว้ด้วยว่าหากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายแล้วไม่ดำเนินการตามแผนต้องมีโทษ ทั้งโทษปรับและโทษจำคุก" ผอ.สถาบันวัคซีนฯ กล่าวปิดท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ TOPPAN EDGE (THAILAND) จัดใหญ่!! ฉลองครบรอบ 40 ปี มุ่งพัฒนาองค์กรควบคู่สังคมอย่างยั่งยืน
๑๖:๐๙ PLANET พร้อมร่วมโชว์ศักยภาพ ในงาน DronTech Asia 2024
๑๖:๔๗ ยูโอบี ฟินแล็บ เปิด 6 โครงการนำร่องกรีนเทคของไทย
๑๖:๑๒ แอ็กซอลตา แสดงความยินดี ตัวแทนจากศูนย์บริการ โตโยต้า โคราช 1988 คว้ารางวัล รองชนะเลิศอันดับ 2
๑๖:๒๐ มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ ประจำปี 2567 (ASAIHL International Conference 2024)
๑๖:๕๒ กทม. แจงเปิดกว้างเอกชนร่วมประมูลโครงการติดตั้งศูนย์ควบคุม-บริหารจัดการระบบเทคโนโลยีจราจรฯ
๑๖:๓๗ กทม. บูรณาการความร่วมมือแก้ปัญหาขอทานต่างด้าวประสาน สน.- สตม. ผลักดันกลับประเทศต้นทาง
๑๖:๑๓ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดกิจกรรมเปิดบ้านที่โคตรจะจริงใจ UTCC Open House 2024
๑๖:๑๔ แอมเวย์ สร้างความสุข ส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี ส่งท้ายปีกับ ภารกิจ Amway Health Run 2024 พร้อมสมทบทุน 1.2 ล้านบาท มอบ 6
๑๖:๔๓ ชวนดูคอนเสิร์ต Thai PBS THE GREATEST SONG OF FAME เชื่อมสามวัยผ่านบทเพลงแห่งความทรงจำ พร้อมแบ่งปันเพื่อสังคม