ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้เปิดเผยผลการสำรวจราคาที่ดินล่าสุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเป็นผลการศึกษาต่อเนื่องของศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2528 ถึง 2558 หรือ 30 ปีต่อเนื่อง โดยถือเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งเดียวที่ดำเนินการต่อเนื่องที่สุดในประเทศไทย และมีความเป็นกลางเป็นที่สุด เพราะไม่มีผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินรายใหญ่นั่งเป็นกรรมการในศูนย์ฯ
ผลการศึกษาโดยสังเขปเป็นดังนี้:
1. อันดับราคาที่ดินที่แพงทีสุดในขณะนี้
อันดับ 1 คือบริเวณสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต (ตารางวาละ 1.9 ล้าน หรือไร่ละ 760 ล้านบาท) สำหรับที่ดินขนาด 4 ไร่ เท่ากับนำธนบัตรใบละ 1,000 บาท วางซ้อนกันได้เกือบ 7 ชั้น (นั่งบนกองเงินกองทอง) เพราะมีรถไฟฟ้าวิ่งตัดกัน 2 สาย กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่ขยายตัวสูงสุดโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก แซงหน้าสีลมและเยาวราชที่เคยแพงที่สุดไปแล้ว โดยบริเวณสุขุมวิท-ไทมสแควร์ ราคารองลงมาคือ 1.85 ล้านบาทต่อตารางวา (ไร่ละ 740 ล้านบาท)
ในกรณีสีลมตกเป็นเงินตารางวาละ 1.6 ล้านบาท (640 ล้านบาทต่อไร่) เพราะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านเพียงสายเดียว ส่วนเยาวราช มีราคา 1.2 ล้านบาทต่อตารางวา (480 ล้านบาทต่อไร่) เพราะยังไม่มีรถไฟฟ้า แต่ในอนาคตเมื่อรถไฟฟ้าผ่านเจริญกรุงเสร็จ ราคาที่ดินคงจะพุ่งขึ้นอีกมาก ในขณะที่ช่วงกลางๆ ของถนนสุขุมวิท 21 (อโศก) ราคา 1.1 ล้านบาทต่อตารางวา (ไร่ละ 440 ล้านบาท) ต่ำกว่าแถวไทมสแคร์ที่อยู่ห่างกันไม่มากนัก เพราะมีรถไฟฟ้าใต้ดินผ่านเพียงสายเดียว
2. ราคาที่ดินที่ต่ำที่สุด
ที่ต่ำที่สุด คงเป็นแถวถนนเลียบคลอง 13 ลำลูกกา โดยที่ดินขนาด 4 ไร่มีราคาตารางวาละ 2,500 บาท หรือไร่ละ 1 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคาแพงสุดไร่ละ 760 ล้านบาทที่สยามสแควร์ถึง 760 เท่า หรือเรียกได้ว่า "ต่างกันราวฟ้ากับเหว" ทั้งนี้ถ้าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ขนาด 16 ไร่ จะเป็นเงินตารางวาละ 2,200 บาท หรือไร่ละ 880,000 บาท และขนาด 36 ไร่ จะเป็นเงินตารางวาละ 1,100 บาท หรือไร่ละเพียง 440,000 บาท ทั้งนี้เพราะแถวนั้นไม่มีโครงการสาธารณูปโภคใด ๆ โดยเฉพาะทางด่วนและรถไฟฟ้า สำหรับถนนวงแหวนรอบนอกสายที่ 3 ก็ยังตั้งอยู่ไกลจากบริเวณนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน
รองลงมาคือบริเวณที่ดินตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ตกเป็นเงินตารางวาละ 4,600 บาท หรือไร่ละ 1.84 ล้านบาทสำหรับที่ดินขนาด 4 ไร่ ทั้งนี้เพราะบริเวณดังกล่าวมีข้อจำกัดในการก่อสร้าง ไม่อาจพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของศูนย์ฯ ซึ่งข้อนี้ทางราชการควรเวนคืนที่ดินบริเวณนี้แทนการสั่งห้ามเช่นนี้ เพราะเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดิน ส่วนที่เข้ามาถึงในเขตกรุงเทพมหานคร แถวถนนประชาสำราญ ราคาอยู่ที่ 6,200 บาทต่อตารางวาหรือไร่ละ 2.48 ล้านบาท ซึ่งก็ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาที่ดินใจกลางเมือง
3. ราคาที่ดินที่ขึ้นสูงสุด และที่ไม่ขึ้นเลย
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในบริเวณต่อไปนี้ เพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 15% ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก แถวเดอะมอลล์ เพราะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านหลายสาย กล้วยน้ำไท-พระรามที่ 4 เพราะแถวสุขุมวิทแพงมากจึงขยายตัวมาทางนี้ และสำโรง เพราะรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยายกำลังก่อสร้างอย่างขะมักเขม้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นรองลงมา แต่ถือว่าพุ่งขึ้นเกิน 10% ได้แก่แถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แสมดำ ศรีนครินทร์-บางนา เป็นต้น
ส่วนที่ไม่ขึ้นเลยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ แถวนวนคร ตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพบางไทร บางขัน บางกระดี่ รังสิต-นครนายก ถนนสายเอเซีย เป็นต้น การที่ราคาที่ดินไม่ขยับเพราะสาธารณูปโภคต่าง ๆ หยุดนิ่ง แต่ในโซนเหนือนี้ เมื่อมีการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงใกล้แล้วเสร็จ หรือมีการก่อสร้างวงแหวนรอบนอกที่ 3 และอื่น ๆ ก็จะทำให้แถวนี้ก้าวกระโดดขึ้นอีกขั้นหนึ่ง จะสังเกตได้ว่าในบางบริเวณ ราคาที่ดินไม่ขยับมาถึง 5 ปีแล้ว
4. ภาพรวมการเปลี่ยนแปลง
ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา (2528-2558) ราคาที่ดินทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปรับเพิ่มขึ้นถึง 47 เท่า ซึ่งนับเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็มีบางช่วงที่ปรับลงโดยเฉพาะในปี 2540-2541 ในรอบ 5 ปี (ปี 53-58) ทำเลที่ปรับตัวเพิ่มสูง คือ เขตชั้นใน 37.1% เขตชั้นกลาง 32.7-37.1% เขตชั้นนอก 13.3-31.1% (เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งเมือง 27.4%) โดยในศูนย์ธุรกิจ (CBD) ปรับตัวสูงสุด 37.1% (เฉลี่ยปีละ 7.4%)
ในปีล่าสุด (2558) ปรับเพิ่มเฉลี่ยทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล 3.2% ทั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลง โดยปี 2556 เพิ่ม 4.6% ปี 2557 เพิ่ม 3.5% โดยแยกเป็น
5. ราคาประเมินตลาดกับราคาราชการ
ราคาของทางราชการจะปรับตัวช้ากว่า และไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาที่อยู่อาศัย ในปี 2559 ราคาประเมินของทางราชการเพิ่มขึ้น 25% โดยราคาสูงสุดตารางวาละ 1 ล้านบาทนั้น ข้อนี้อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าราคาที่ดินปรับสูงขึ้นมาก อาจส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยจนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เห็นว่า ราคาดังกล่าวของทางราชการ ยังถูกกว่าราคาตลาด ไม่ได้ส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด และในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2558 จะมีการโอนอสังหาริมทรัพย์มากเป็นพิเศษ ก็เป็นเพราะการปรับราคาประเมินนี้ เพื่อจะได้ไม่เสียภาษีในอัตราใหม่เท่านั้น
อย่างในกรณีแรก ราคาประเมินของทางราชการให้สีลมมีราคาแพงที่สุดที่ 1,000,000 บาทต่อตารางวา ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าสีลมถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ มีอาคารสำนักงานอยู่มากมาย แต่ในความเป็นจริง ราคาที่ดินที่แพงที่สุดตามราคาตลาดก็คือพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าแถวสยาม ชิดลม เพลินจิต ซึ่งทางราชการประเมินไว้เพียง 900,000 บาทต่อตารางวา แต่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ประเมินไว้เป็นเงินตารางวาละ 1.9 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาที่ทางราชการประเมินไว้ถึง 111%
สาเหตุที่ราคาตลาดที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ประเมินไว้ให้พื้นที่สยาม-ชิดลม-เพลินจิต มีค่าสูงกว่าบริเวณสีลมก็เพราะเป็นทำเลด้านการค้า มีศูนย์การค้าที่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญมีค่าเช่าสูงต่อตารางเมตรสูงกว่าพื้นที่สำนักงานเป็นอย่างมาก เช่นสำนักงานที่สีลม มีค่าเช่าตารางเมตรละ 700 - 1,000 บาท ในขณะที่พื้นที่เช่าช่วงในศูนย์การค้าสูงถึง 2,500 - 5,000 บาท แม้ศูนย์การค้าจะมีพื้นที่ใช้สอยสุทธิต่อพื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่าอาคารสำนักงาน แต่ก็ยังสร้างรายได้ได้มากกว่าอยู่ดี ยิ่งกว่านั้น ทำเลสยาม ชิดลม เพลินจิต ยังถือว่ามีรถไฟฟ้า BTS 2 สายเชื่อมต่อกัน ทำให้มีความคึกคักมากกว่าย่านสีลม
จะเห็นได้ว่าแม้ราคาประเมินของทางราชการจะดูปรับเพิ่มขึ้นมากในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาก (พ.ศ.2555-2559) แต่ก็ยังปรับเพิ่มขึ้นต่อปีในอัตราที่ต่ำกว่าการปรับเพิ่มขึ้นของราคาตลาดเป็นอย่างมาก จะสังเกตได้ว่าในพื้นที่ใจกลางเมือง แม้ไม่มีโครงการสาธารณูปโภคใหม่ๆ ใด ๆ เกิดขึ้นมากนัก แต่ราคาที่ดินก็ขยับสูงขึ้นปีละประมาณ 10% เพราะการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าออกนอกเมืองหรือไปสู่พื้นที่อื่นมากขึ้น ย่อมส่งผลให้การเข้าถึงศูนย์การค้าและอาคารธุรกิจใจกลางเมืองดีขึ้น ราคาที่ดินในใจกลางเมืองจึงยิ่งขยับตัวเพิ่มขึ้น
อนึ่ง ราคาประเมินทางราชการมีไว้เพื่อการเสียภาษีในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่าง ๆ ไม่อาจสะท้อนมูลค่าตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แม้แต่รายงานการประเมินค่าทรัพย์สินของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอิสระ ก็ยังต้องให้มีการทบทวนใหม่ทุกรอบ 6 เดือน แต่ราคาทางราชการใช้ในรอบ 4 ปี และสำรวจและจัดทำล่วงหน้า 1-2 ปี จึงยิ่งไม่สะท้อนมูลค่าตลาดที่แท้จริง
6. ราคาที่ดินในปี 2560
การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินเป็นดัชนีชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจของชาติ หากชาติมีการพัฒนา มีอนาคตที่ดี ก็จะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินที่เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเพิ่มขึ้น ดังนั้นศูนย์ฯ คาดว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2560 จะเป็นใน 2 กรณีต่อไปนี้:
1. คงจะขยับตัวมากกว่า 3.2% คือราว 3.5-4% ในกรณีที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้เพราะมีบรรยากาศประชาธิปไตย อาจส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ การส่งออก รวมทั้งความร่วมมือกับประเทศตะวันตกดีขึ้น
2. ในกรณีที่การเมืองยังไม่นิ่ง ราคาที่ดินก็ยังจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจในอัตราลดลง เช่นอาจเหลือเพียง 2.5-3% เป็นต้น
อนึ่งการกล่าวถึงประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เป็นธรรม ความโปร่งใส นั้น ศูนย์ฯ ไม่ได้อิงการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะสังเกตได้ว่าเมื่อประเทศมีการเปิดตัวในเชิงการเมืองมากขึ้น มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรม ก็จะได้รับการต้อนรับจากนานาชาติ ดังในกรณีประเทศเมียนมาร์ หรืออื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น เพิ่มขึ้นสูงกว่าบริเวณอื่นๆ ทั่วประเทศอยู่แล้ว เพราะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักกว่า ยกเว้น บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองชายแดน เมืองท่องเที่ยวและเมืองอุตสาหกรรมที่อาจเติบโตมากกว่าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 148/2559: วันพุธที่ 27 เมษายน 2559
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน