ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยภูเก็ต

พฤหัส ๐๘ ตุลาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๕๗
ตลาดที่อยู่อาศัยในภูเก็ตค่อนข้างซึม แต่ยังดีกว่าหลายเมืองในจังหวัดหลักของภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และพัทยา

เมื่อบ่ายวานนี้ (7 ตุลาคม 2558) ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส http://www.area.co.th) ร่วมกับฐานเศรษฐกิจ และสมาคมที่เกี่ยวข้องจัดการสัมมนาอสังหาริมทรัพย์ที่จังหวัดภูเก็ตในชื่อว่า "เศรษฐกิจก้าวหน้า อสังหาฯ ก้าวไกล ภูเก็ต เจาะลึกปัจจุบัน ไล่ให้ทันอนาคต" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง ภูเก็ต ในที่นี้จึงเป็นผลสรุปของการนำเสนอของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ฯ

ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยภูเก็ต

ในจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมดมากกว่า 200 โครงการนั้น เป็นโครงการที่สำหรับการซื้อขายเป็นหลัก ไม่ใช่โครงการเช่า และไม่ใช่โครงการบ้านพักตากอากาศหรือวิลล่า ซึ่งเป็นอีกตลาดหนึ่ง แต่เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยของคนไทยและคนต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นสำคัญ จากข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2558 พบว่า จำนวนหน่วยขายที่ขายไปแล้ว 5,000 หน่วยจากทั้งหมดที่สำรวจ 15,000 หน่วย รวมมูลค่าการพัฒนาทั้งหมดประมาณ 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แสดงถึงกำลังซื้อจากต่างประเทศบางส่วน ซึ่งเป็นกำลังซื้อที่เข้มแข็งกว่า

ลักษณะของโครงการที่เปิดขาย แต่ละโครงการมีขนาดเฉลี่ยประมาณ 80 หน่วย ถือได้ว่าเป็นโครงการขนาดเล็ก ๆ ในขณะนี้ยังเหลือหน่วยรอขายอยู่อีก 10,000 หน่วย โดยคาดว่า หน่วยขายทั้งหมดที่เหลือนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการขายไปอีก 18 เดือน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นระยะที่ค่อนข้างยาว แสดงว่าตลาดที่อยู่อาศัยในภูเก็ตกำลังชะลอตัวอยู่ในขณะนี้

ประเภทของที่อยู่อาศัย

หากวิเคราะห์ตามประเภทของที่อยู่อาศัย โดยแยกเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ห้องชุดพักอาศัยและที่ดินจัดสรร จะเป็นดังนี้:

1. บ้านเดี่ยวโดยรวมขายได้ช้า คาดว่าอุปทานที่ยังเหลืออยู่ 1,800 หน่วย ต้องใช้เวลาขายอีก 2 ปี กลุ่มราคาที่ขายดีคือราคา 5-7 ล้านบาท

2. บ้านแฝด มีเหลือขายอยู่ถึง 1,600 หน่วย ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่การขายค่อนข้างช้ากว่าบ้านเดี่ยวเสียอีก ความนิยมอาจมีจำกัด

3. ทาวน์เฮาส์ ที่ขายดีมีราคา 2-3 ล้านบาท คงเป็นเพราะการออกแบบที่ดี มีพื้นที่ใช้สอยเหมาะสมในหลาย ๆ โครงการที่สำรวจ อย่างไรก็ตามยังมีทาวน์เฮาส์เหลือขายประมาณ 1,600 หน่วย สำหรับอัตราการขาย ต้องใช้เวลาอีกถึง 18 เดือน ซึ่งนับว่าพอสมควร

4. ตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ ขายดีที่สุด คือจะใช้เวลาเพียง 6 เดือน แต่มีอุปทานค่อนข้างน้อย คือเพียง 200 หน่วยเท่านั้น

5. ห้องชุดพักอาศัย มีจำนวนเหลืออยู่ราว 5,000 หน่วย ถือว่ามากที่สุด แต่ระยะเวลาในการขาย จะน้อยกว่าเพื่อน คือจะหมดในเวลา 17 เดือน แต่สินค้าที่ขายดี ซึ่งเป็นสินค้าส่วนใหญ่มีราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท

6. ที่ดินจัดสรรมีเหลืออยู่ไม่ถึง 60 แปลง แต่ไม่เป็นที่นิยมและไม่รับการอำนวยสินเชื่อ เชื่อว่าคงจะขายไม่ได้ คงต้องแปลงเป็นการบ้านพร้อมที่ดิน เช่น บ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮาส์ในอนาคต

การเปิดตัวโครงการใหม่

ในจำนวนโครงการที่ขายอยู่ 200 โครงการนั้น เป็นโครงการที่เปิดตัวใหม่ในปี 2557 เพียง 35 โครงการ โดย 20 โครงการอยู่ในเขตอำเภอเมือง 5 โครงการอยู่ในเขตอำเภอกระทู้ และอีก 10 โครงการอยู่ในเขตอำเภอถลาง แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งเดินทางได้สะดวก การเดินทางในจังหวัดภูเก็ตมีข้อจำกัดเนื่องจากการจราจรติดขัด การอยู่ไกลจากใจกลางเมือง จึงอาจเป็นข้อจำกัด

สินค้าที่เปิดใหม่ในปี 2557 นั้นขายได้ดีกว่าสินค้าเก่า เพราะยังเพิ่งเปิดใหม่ อาจมีการส่งเสริมการขายต่างๆ พอสมควร อย่างไรก็ตามจำนวนหน่วยเปิดใหม่มีเพียง 3,300 หน่วย แต่ขนาดโครงการใหญ่ขึ้น ทั้งนี้เพราะปิดเป็นแบบห้องชุดมากกว่าแต่ก่อน ส่วนในปี 2558 คาดว่าจำนวนโครงการเปิดใหม่ทั้งปีอาจจะน้อยมาก แต่ ดร.โสภณ ยังไม่อาจแถลงอย่างเป็นทางการในขณะนี้ การที่มีโครงการเปิดใหม่น้อย แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของภูเก็ตกำลังหดตัวลงอย่างชัดเจน กำลังซื้อจึงจำกัด การเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ จึงมีน้อย

การขายในรอบ 12 เดือน

ในรอบ 12 เดือนล่าสุด ปรากฏว่ามีการขายได้แล้วประมาณ 5,000 หน่วย ซึ่งเทียบแล้วขายได้มากกว่าการเปิดตัวใหม่ที่เป็นเสมือน "นกรู้" ชลอตัวลงตามเศรษฐกิจ แต่โดยที่ยังมีอุปทานในตลาดอีก 10,000 หน่วย แสดงว่า ณ อัตราการขายนี้ ยังต้องใช้เวลาในการขายสินค้าเดิมอีกราว 2 ปี สินค้าที่ขายได้ราว 53% เป็นห้องชุด ในขณะที่สินค้าอื่นขายได้ช้ากว่า การที่มีห้องชุดในภูเก็ตมากมายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาอยู่ในภาวะเดียวกับกรุงเทพมหานคร พัทยาและเมืองใหม่อื่นที่สินค้าอื่น (นอกจากห้องชุด) เกิดได้ยากเพราะอุปทานที่ดินมีจำกัด

ในรอบ 1 ปี ขายบ้านประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้:

1. บ้านเดี่ยว 700 หน่วย กลุ่มใหญ่สุด ราคา 3-5 ล้านบาท (300 หน่วย)

2. บ้านแฝด 700 หน่วย กลุ่มใหญ่สุด ราคา 3-5 ล้านบาท (350 หน่วย)

3. ทาวน์เฮาส์ 600 หน่วย กลุ่มใหญ่สุด ราคา 2-3 ล้านบาท (400 หน่วย)

4. ตึกแถว 300 หน่วย กลุ่มใหญ่สุด ราคา 3-5 ล้านบาท (100 หน่วย)

5. ห้องชุด 2,700 หน่วย กลุ่มใหญ่สุด ราคา 1-2 ล้านบาท (1,000 หน่วย)

การขายตามทำเล

นอกจากนี้การศึกษายังแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นในแต่ละอำเภอ แต่ละประเภทที่อยู่อาศัย และแต่ละระดับราคา อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าวอาจเป็นในรายละเอียดเกินไป แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า

1. ในกรณีอำเภอเมือง ห้องชุดพักอาศัยยังขายได้ดีที่สุด มีอนาคตมากกว่าสินค้าประเภทอื่นใด มีอัตราการขายที่เร็วกว่าสินค้าประเภทอื่นโดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตามในขณะนี้ก็เกิดปัญหาในการโอนทรัพย์สินเช่นกัน

2. ในกรณีอำเภอกระทู้ ห้องชุดราคา 3-5 ล้านบาท และ 5-7 ล้านบาท ยังขายได้ดีกว่ากลุ่มอื่น แต่โดยที่ตึกแถวมีจำนวนน้อย อาจถือเป็นข้อยกเว้น แต่ตึกแถวขายได้ดีมากเป็นพิเศษในย่านนี้

3. ในอำเภอถลาง ห้องชุดราคาเกิน 7 ล้านบาทขึ้นไปกลับขายได้ดี อาจคงใช้เพื่อการพักผ่อน แต่ห้องชุดราคา นอกจากนั้นบ้านเดี่ยวราคาประมาณ 3 ล้านบาท ก็ขายได้ดีพอสมควร

ในอนาคตหากมีการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ จริง คาดว่า ทำเลต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีก เพราะอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้กับเมืองมากนัก

โดยสรุปแล้วภูเก็ตซึ่งถือเป็นเมืองที่มีโครงการที่อยู่อาศัยมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและพัทยานั้น ยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงขนาดเลวร้ายมากเช่นในหลายต่อหลายจังหวัดหลักในภูมิภาค ทั้งนี้ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากนักท่อเที่ยวด้วยส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเป็นอันมาก รวมทั้งยังมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนอีกด้วย หากการท่องเที่ยวยังเติบโตอย่างมีคุณภาพ ก็จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับฟื้นมาได้ แต่ในขณะนี้นักท่องเที่ยวคุณภาพจากประเทศในยุโรป ยังอาจมีไม่มากนัก

ความร่วมมือในการสำรวจ

ดร.โสภณ กล่าวว่าศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการหรือสมาคมผู้ประกอบการท้องถิ่นจัดทำการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับได้รับรู้ข้อมุลที่เท่าเทียมกัน ในปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่รู้ข้อมูลมากกว่า เป็นการสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ดร.โสภณ เห็นว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการายย่อยก็ควรรับรู้ข้อมูลใกล้เคียงกัน หาไม่หากพัฒนาไปโดยไร้ทิศผิดทาง ก็จะส่งผลลบต่อตลาดและผู้ประกอบการายใหญ่ด้วย เช่น พัฒนาจนเกิดอุปทานส่วนเกิน

ดังนั้นหากศูนย์ฯ ร่วมมือกับท้องถิ่นใดสำรวจข้อมูลได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย รวมทั้งทางราชการด้วย ศูนย์ฯ เป็นศูนย์ข้อมูลที่เป็นกลางที่สุด เพราะไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใดมานั่งเป็นกรรมการรับรู้ข้อมูลไปใช้ก่อน ความสำคัญของข้อมูลคือการเป็น First-hand information ยิ่งกว่านั้นศูนย์ฯ ยังไม่เป็นนายหน้า ไม่พัฒนาที่ดินเอง เพื่อความเป็นกลางทางวิชาชีพโดยเคร่งครัด สมาคมท้องถิ่นหรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ใดประสงค์จะได้ข้อมูลในรายละเอียด สามารถมอบหมายให้ศูนย์ฯ ร่วมดำเนินการได้

CSR ของ AREA

การนำเสนอข้อมูลของศูนย์ฯ AREA ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจที่ภูเก็ตในครั้งนี้ หรือสื่ออื่นนั้น ศูนย์ฯ ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปนำเสนอข้อมูลเอง เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายด้านสถานที่-เครื่องดื่มเครื่องเคียง จัดส่งพนักงานไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำแบบสำรวจความเห็นเพื่อประโยชน์แก่ผู้เข้าสัมมนา ครั้งหนึ่ง ๆ มีมูลค่าประมาณ 100,000 บาท

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เพื่อประโยชน์ของนักพัฒนาที่ดินท้องถิ่น สถาบันการเงิน นักวิชาชีพ นักลงทุนตลอดจนผู้ซื้อบ้านทั่วไป จะได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่ศูนย์ฯ ได้สำรวจอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2537 และสำรวจในภูมิภาคอาเซียนด้วย เพื่อเป็นการแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาข้อมูลที่เป็นกลางและทันสมัยต่อไป

อ้างอิง: AREA แถลง ฉบับที่ 305/2558:วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2558

ผู้แถลง:

ดร.โสภณ พรโชคชัย ([email protected]) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ