นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ"
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทยโดยในปี 2559 นี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดให้ วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม 2559 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคลภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2558 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี 2558 นี้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน จะทำการคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสด ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขั้นไป สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปีจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ โสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวอมรรัตน์ แขวงโสภา นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และว่าที่ร้อยตรีหญิงณฐมน อยู่เล่ห์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ กรมชลประทาน เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวนันทินี ทองคงเหย้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาวฉมาพันธ์ สุพรมอินทร์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ นั้น กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอบไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกันผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธีฯ ทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
ส่วนพันธุ์ข้าวที่ใช้ในงานพระราชพิธีฯ ซึ่งผู้คนในสนามหลวงทุกเพศทุกวัยจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคลนั้น นับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2559 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,667 กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 7 พันธุ์ (ปทุมธานี 1 , สังข์หยดพัทลุง , ขาวดอกมะลิ 105 , กข 57 , กข 41 , กข 61 , กข 6) ข้าวไร่ 3 พันธุ์ (ดอกพะยอม ,ซิวแม่จัน และลืมผัว) ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น "พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี 2558 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป
การเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ แต่ละปีนั้นประกอบด้วย 2 ช่วงคือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้เป็น "วันเกษตรกรประจำปี" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา โดยในปี 2559 เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกได้รับรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณพร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ มีดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 ราย
· อาชีพทำนา ได้แก่ นายสันทัด วัฒนกูล บ้านเลขที่ ๒๓๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลทัพทัน อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี
· อาชีพทำสวน ได้แก่ นายอุดม วรัญญูรัฐ บ้านเลขที่ ๘๕ หมู่ที่ ๗ ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
· อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายดิลก ภิญโญศรี บ้านเลขที่ ๑๕๕ หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองคอนไทย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
· อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นายทอง หลอมประโคน บ้านเลขที่ ๓๓ หมู่ที่ ๓ บ้านกระเบื้อง ตำบลบ้านไทร อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
· อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางอนงค์ ศรีไชยบาล บ้านเลขที่ ๒๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลโคกสว่าง อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
· อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสมบัติ บุญถาวร บ้านเลขที่ ๑๐๘ หมู่ที่ ๘ ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
· อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายชนธัญ นฤเศวตานนท์ บ้านเลขที่ ๑๕๕/๑๐ หมู่ที่ ๒ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
· อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายอนุสรณ์ พงษ์พานิช บ้านเลขที่ ๙๕/๒๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
· อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายหนูเคน ทูลคำ รักษ์บ้านเลขที่ ๒๓๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
· อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายอำนวย เตชะวรงค์สกุล บ้านเลขที่ ๙๘/๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
· สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายสุริยะ ชูวงศ์บ้านเลขที่ ๒๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
· สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ บ้านเลขที่ ๑๑๙ หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
· สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายนิโรจน์ แสนไชย บ้านเลขที่ ๑๘๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน
· ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสมสุข เพชรกาญจน์ บ้านเลขที่ ๑๕๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าช้างอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
· สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสิทธิศักดิ์ พันธุ์พิริยะ บ้านเลขที่ ๑๗๘ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
· สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายบัณฑิต กูลพฤกษี บ้านเลขที่ ๒๓๐/๑ หมู่ที่ ๖ ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 สถาบัน
· กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านร้องประดู่ บ้านเลขที่ ๓๒/๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
· กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนควนเมา บ้านเลขที่ ๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง
· กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน บ้านเลขที่ ๑๔๙ หมู่ที่ ๔ ตำบลโป่งน้ำร้อนอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
· กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงหมูหลุมครบวงจรบ้านกะทม บ้านเลขที่ ๖ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
· กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชมรมปลาเชียงราย บ้านเลขที่ ๒๕๕ หมู่ที่ ๖ ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
· กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาบ้านห้วยบง 2บ้านเลขที่ ๔๙ หมู่ที่ ๕ ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
· กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสร้างแป้น บ้านเลขที่ ๑๗๒ หมู่ที่ ๖ ตำบลสงยาง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
· กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี บ้านเลขที่ ๑๖๔ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
· วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ บ้านเลขที่ ๒๓ หมูที่ ๑๒ ตำบลนางลือ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
· สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานเกษตรสมบูรณ์บ้านเลขที่ ๔๙ หมู่ที่ ๔ ตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
· กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านโพนแพง บ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ ๘ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
· ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านดงลิง บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
· ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนประเภทข้าวอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลงิ้วราย บ้านเลขที่ ๑๗๓ หมู่ที่ ๑ บ้านต้นชุมแสง ตำบลงิ้วราย อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์
· สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุนในเขตปฏิรูปที่ดินปางศิลาทองจำกัด บ้านเลขที่ ๔๙หมู่ที่ ๑๑ ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร
· สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์นิคมแม่แตงจำกัด บ้านเลขที่ ๑๓๕ หมู่ที่ ๙ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่
· สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางโนนสุวรรณจำกัด บ้านเลขที่ ๑๐๙ หมู่ที่ ๕ ถนนดงบัง-ม่วงนาม ตำบลดงอีจาน อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์
· สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์เดินรถกระทุ่มแบนจำกัด บ้านเลขที่ ๔๓๘/๕๑-๕๒ ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
· สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชจำกัด บ้านเลขที่ ๑๙๘ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
· สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจจำกัด บ้านเลขที่ ๔๙๒/๑ถนนพระราม ๑ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
· สหกรณ์เครดิตยูเนียน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเขื่อนเพชรโค้งข่อยจำกัด บ้านเลขที่ ๓๕๙/๑ ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
นอกจากนี้ได้มีการคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2559 จำนวน 3 สาขา คือ
1) นายคำพันธ์ เหล่าวงษี เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน
สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
2) นายอัคระ ธิติถาวร เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน
สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น
3) นายอคิศร เหล่าสะพาน เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน
สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย
ทั้งนี้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรดีเด่น และปราชญ์เกษตรทั้งหมด จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2559 ณ บริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง