นายอุปกิต ปาจรียางกูร กรรมการ บริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (UPA) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 มีมติอนุมัติให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์การลงทุนของบริษัทจำนวน 9 ข้อ (ข้อ 50 ถึงข้อ 58 ) ประกอบด้วย
1. ประกอบกิจการออกแบบเว็บไซต์ ระบบอินเตอร์เน็ต ระบบเครือข่าย ระบบอีคอมเมิช ระบบเว็บไซต์ ทุกประเภท
2.ประกอบกิจการ พัฒนา และบำรุงรักษา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งโมบายแอพพลิเคชั่น ทุกประเภท
3. ประกอบกิจการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบสืบสวนสอบสวน พิสูจน์หลักฐาน ระบบเก็บข้อมูล ระบบตรวจสอบโซเชียลมีเดีย
4.ประกอบกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านระบบเน็ตเวิร์ค (Network) วายฟาย (Wi-Fi) หรืออุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ (Smart Device) ทุกประเภท
5. ประกอบกิจการให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบวิทยุสื่อสารหรือระบบสื่อสารข้อมูลภาพเสียง ผ่านอินเตอร์เน็ต ทุกประเภท
6. ประกอบกิจการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ หรือสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ทุกประเภท
7.ประกอบธุรกิจบริการธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ หรือบริการทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือโมบายแอพพลิเคชั่น
8. ประกอบการจัดจำหน่ายสินค้า และบริการ ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ (อันมิได้เป็นการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงตาม พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545) และ
9. ประกอบกิจการพัฒนาเทคโนโลยีระบบพิสูจน์ตัวตน ระบบจดจำและตรวจสอบใบหน้า ระบบตรวจสอบลายนิ้วมือ ระบบตรวจสอบดีเอ็นเอและระบบไบโอเมทริกซ์ทุกประเภท
การเพิ่มวัตถุประสงค์การลงทุนของบริษัททั้ง 9 ข้อ ข้างต้น เป็นการต่อยอดธุรกิจเทคโนโลยีด้านการสื่อสารของบริษัท โดยดำเนินงานผ่านบริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ UPA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจ Mobile Solution และระบบ Social Media เพื่อนำไปสู่ก้าวใหม่ของการสื่อสารแบบคมชัด ไร้พรมแดน ด้วยแอพลิเคชัน "Mozer Mobile Communication Platform" ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กร มีฟังก์ชันหลายรูปแบบ เช่น การถ่ายทอดสดวิดีโอ, การส่งข้อความ, รูปภาพหรือไฟล์งาน, การสื่อสารในลักษณะวิทยุสื่อสาร และ การดูแลระบบรวมถึงรายงานการใช้งานต่างๆจากผู้ดูแลระบบส่วนกลางขององค์กร เป็นต้น ทั้งนี้ จากการที่แอพลิเคชัน Mozer ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้ Mozer มีการขายผ่านช่องทาง AIS เพื่อดำเนินการขายให้กับลูกค้าองค์กรและฐานลูกค้าของ AIS, การขายผ่านช่องทาง CAT Telecom เพื่อขายให้กับหน่วยงานต่างๆของรัฐ และ การขายผ่านช่องทาง Oracle เพื่อขายให้กับประเทศต่างๆโดยเริ่มจากกลุ่มประเทศ AEC ก่อนเป็นกลุ่มแรก ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อินฟอร์เมติกซ์ พลัส มีโครงการต่างๆที่ลงนามแล้ว มูลค่ารวมกว่า 56 ล้านบาท
นายอุปกิตกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาบริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ UPA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 99.99 ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาด 200 เมกะวัตต์กับ กระทรวงพลังงานสหภาพเมียนมาร์ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติ cogeneration ขนาด 200 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกันบก จังหวัดทวาย รัฐทะนินทายี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนทั้งประเทศเมียนมาร์
โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมียนมาร์ให้ก๊าซธรรมชาติ ที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และบริษัทคาดว่าจะได้รับค่าตอบแทนจากการขายไฟฟ้าประมาณหน่วยละ 0.0333 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่บริษัทในอนาคต