นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ไทยและอิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน การผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่จะร่วมมือกันได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยในส่วนของการค้าสินค้าเกษตร สินค้าข้าว ถือเป็นสินค้าที่มีโอกาสในการเปิดตลาดในอิหร่าน รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรในสาขาต่างๆ ทั้งสาขาปศุสัตว์ ดิน และน้ำ การกักกันและป้องกันโรคพืช พืชไร่ พืชสวน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตร รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านการประมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในอนาคต
ภายหลังอิหร่านได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ ไทยและอิหร่าน ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม วิชาการ เกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์ (Joint Commission - JC) ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 22-25 มกราคม 2559 ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ซึ่งการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ทำให้ไทยมีโอกาสเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรได้อีกมากขึ้น
ด้านนางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน อิหร่านเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรกับไทยอันดับที่ 71 ของไทย โดยในระหว่างปี 2556 - 2558 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยปีละ 2,178 ล้านบาท ส่งออกเฉลี่ยปีละ 2,038 ล้านบาท และนำเข้าเฉลี่ยปีละ 140 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับอิหร่านมาโดยตลอด สินค้าเกษตรที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำสับปะรด ข้าวโพดหวาน สับปะรดปรุงแต่ง ข้าว พืชผักผลไม้ แช่อิ่ม เชื่อมหรือฉาบ ของปรุงแต่งอื่นๆชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ (นอกจากอาหารสุนัขหรือแมว) อาหารปรุงแต่ง และผลไม้แห้ง ส่วนสินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากถั่ว (เช่น ลูกนัตแห้ง) เครื่องในที่บริโภคได้ของสัตว์จำพวกโคกระบือแช่แข็ง อินทผลัมสดหรือแห้ง พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และมะเดื่อสดหรือแห้ง
ทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง มีโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้อีกมาก เป็นประเทศที่สามารถพึ่งพาตนเองได้หลายด้าน ทั้งด้านอาหาร เทคโนโลยี แม้อยู่ภายใต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเป็นเวลาหลายปี แต่อิหร่านเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรประมาณ 80 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางนำเข้าสินค้าไปยังภูมิภาคเอชียกลางซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล รวมถึงตลาดอิหร่านมีความต้องการสินค้าเกษตรที่หลากหลาย เช่น ไก่ กุ้ง ปลากระป๋อง น้ำผลไม้ ข้าวโพด และยางพารา เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับอิหร่าน