เก็บตกทริป The Solar Monk บุกออสเตรเลีย ส่องความก้าวหน้า Solar Cell

พุธ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๐๙:๓๐
เมื่อเร็วๆนี้ พระครูวิมลปัญญาคุณ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ ที่หลายคนเรียกว่า "โรงเรียนโซลาร์เซลล์" เพราะทั้งไฟฟ้าทั้งโรงเรียนมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด ซึ่งโด่งดังทั้งในไทยและต่างประเทศ จนได้รับฉายาว่า The Solar Monk ได้เดินทางไปประเทศออสเตรเลียเพราะได้รับนิมนต์เครือข่ายชาวพุทธซึ่งไม่ได้พบกันมานานหลายปี

พระอาจารย์? จึงได้ใช้โอกาสนี้สำรวจความเจริญก้าวหน้าเรื่องโซลาร์เซลล์ในออสเตรเลียซึ่งมีชื่อเสียงมากเรื่องการใช้พลังงานสะอาด โดยหวังว่าอาจจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้บ้าง

หลังเดินทางกลับมาจากออสเตรเลีย ทำให้พระอาจารย์ได้เห็นภาพต่างๆชัดขึ้นว่า เหตุที่ไทยยังไม่มีการใช้โซลาร์เซลล์อย่างแพร่หลายเหมือนออสเตรเลีย ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีแต่อย่างใด แต่เป็นปัญหาเรื่องนโยบายซึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ประเทศ/ผู้กำหนดนโยบายต่างหากที่ทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงจุดนั้น

รัฐบาลออสเตรเลีย : ช่วยลงทุนพร้อมรับซื้อไฟฟ้า

พระอาจารย์ เล่าให้ฟังว่า ที่ประเทศออสเตรเลียมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เยอะมาก โดยเฉพาะเมืองอเดเลต ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของออสเตรเลีย ประชาชนที่นั่นติดโซล่าร์เซลล์แทบทุกหลังคาเรือน โดยจากการสอบถามพบว่า เหตุที่ประชาชนติดโซล่าร์เซลล์กันเยอะ เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ที่อยากให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด ที่ออสเตรเลียรัฐบาลเขามีความชัดเจนเรื่องนโยบายมาก ทั้งช่วยลงทุนและซื้อไฟฟ้าคืน และยังสามารถนำไปลดภาษีได้ด้วย

"การติดตั้งรัฐจะลงทุนให้ 50% รวมถึงมีการรับซื้อคืนด้วย การติดตั้งก็ง่ายๆ แค่โทรไปก็มีบริษัทมาติดตั้งให้ทันที โดยที่เจ้าของบ้านแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องไปทำเรื่องขอหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ให้ยุ่งยาก ทำให้ประชาชนที่นี่แทบทุกหลังคาเรือนอย่างน้อย 2-3 Kw. โดยหากช่วงที่รัฐรับซื้อไฟในราคาที่ลดลง ราคาการติดตั้งก็จะลดลงด้วย ทุกอย่างจัดการแบบเป็นระบบเป็นเอกภาพ"

พระอาจารย์ แจงต่อไปว่า ที่ออสเตรเลียไฟฟ้า 1.8 Kw.ราคาประมาณ 18,000 Au$ ออสเตรเลีย(468,000 บาท) ซึ่งถือว่าแพงมาก แต่รัฐจะช่วยลงทุน 50% เพราะฉะนั้น ประชาชนจ่ายเพียงแค่ 9,000 Au$ (234,000 บาท) เท่านั้น พร้อมกับซื้อไฟคืนหน่วยละ 50 เซนต์ (13 บาท) ดังนั้น ถ้าวันหนึ่งผลิตไฟได้ 7.2 หน่วยก็คือได้วันละ 93.6 บาท 1 ปี คิดเป็นเงิน 34,164 บาท ประมาณ 6 ปี 8 เดือนก็จะคืนทุนทันที เหลือจากนั้นคือใช้ไฟฟรีและยังมีรายได้เพิ่มด้วย" พระอาจารย์คำนวนอย่างรวดเร็ว

พระอาจารย์ กล่าวต่อว่า อยากทราบเรื่องการบริหารจัดการไฟของที่นั่นมากว่าเขาทำกันอย่างไร นำไฟเข้าสายไฟส่งอย่างไร แต่รายละเอียดดังกล่าวต้องสอบถามเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งในส่วนของภาครัฐหากมีหน่วยงานใดไปดูงานที่นั่นน่าจะสามารถสอบถามและเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้มากกว่า ในส่วนที่อาตมาทำได้ก็เพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น จีงหวังว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูงานที่นั่นก็อยากให้สอบถามเรื่องนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก

"อยากให้ไปดูงานไม่ใช่ไปเที่ยว ให้ดูการบริหารจัดการไฟฟ้าเขาทำอย่างไรจึงไม่เต็มสายส่งทั้งที่ไมโครกริดเต็มเมืองอย่างนั้น เพราะมีข่าวเรื่องประชาชนอยากใช้โซลาร์เซลล์ทีไร จะมีคนออกมาบอกว่าไฟเต็มสายส่ง ก็สงสัยอยู่ว่าเต็มได้อย่างไร แล้วทำไมยังคิดที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มสายส่งไม่เต็มหรือ ยอมรับว่าไม่เข้าใจจริงๆ"

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม กล่าวต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสไปเยี่ยมสำนักงานขาย Tesla Powerwall ซึ่งอาตมาติดตามเรื่องนี้มานานมาก โดยราคาทั้งระบบทั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 3 Kw. อายุ 25 ปี แบตเตอรี่ที่มีการรับประกัน 10 ปี ราคาอยู่ที่ 10,500 Au$ หรือคิดเป็น 273,000 บาท หรือกิโลวัตต์ละประมาณ 90,000 บาท ซึ่งถือว่าถูกมาก ในขณะที่เมืองไทยอยู่ที่กิโลวัตต์ละ 120,000 บาท และแบตเตอรี่ใช้ได้เพียง 5 ปีเท่านั้น

"Tesla Powerwall ถือเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เป็นไฟฟ้าไร้สายที่สามารถใช้ได้กับทุกสถานที่ เราสามารถทำเป็นระบบ stand alone คือไม่ยุ่งกับการไฟฟ้าเลยผลิตเองใช้เอง หรือจะทำเป็นแบบ hybrid system คือเอาไฟของการไฟฟ้ามาเป็นไฟสำรองในภาวะฉุกเฉิน ถ้าสภาวะปกติก็ใช้ไฟจากบ้านเราเอง หรือ (ฝันไปว่า) ถ้ารัฐรับซื้อเราก็ทำเป็นแบบ on grid ได้สบายมาก ดังนั้น อยากให้รัฐช่วยลดภาษีเพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าถึงโซลาร์เซลล์มากขึ้น เหมือนกับที่รัฐลดภาษีให้การส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่(BOI) บ้าง"

คนไทยพร้อมสู่ยุคพลังงานสะอาด

หันกลับมาที่ประเทศไทย พระอาจารย์บอกว่า ความจริงแล้วในด้านเทคโนโลยีระหว่างไทยกับออสเตรเลียแทบไม่ต่างกัน เพราะประเทศไทยมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งเทคโนโลยี และ ความรู้ ที่ชาวบ้านจำนวนวนมากมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ดี ขาดแต่วิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบายเท่านั้นที่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมเรื่องนี้ เพราะยังไม่สามารถก้าวพ้นพลังงานสกปรกจากฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดได้

"อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการทำงานของโรงเรียนศรีแสงธรรม และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้โซลาร์เซลล์ ที่มีการพูดถึงในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" หลายครั้ง แต่กระบวนการส่งเสริมต่างๆ ยังเป็นไปด้วยความล่าช้า ซึ่งหากความเจริญก้าวหน้าจะเกิดขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของท่าน อาตมายินดีสนับสนุนที่ท่านจะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ" พระครูวิมลปัญญาคุณ กล่าว

ขณะนี้คนไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวไปสู่ยุคพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหลือเพียงแต่ผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น ที่ยังไม่พร้อม ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ยากที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนได้ เพราะเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ที่แต่ละคนจะพึงมี ต้องเปลี่ยนด้วยตัวเขาเอง ก็ได้แต่หวังซักวันหนึ่งประเทศไทยจะมีผู้นำคนหนึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ เพราะหากมีการปลดล็อคเชิงนโนบายแล้วประเทศไทยจะก้าวเป็นประเทศแห่งการใช้พลังงานสะอาดทันที

เดินหน้าให้แสงสว่างชุมชน

พระอาจารย์ กล่าวว่า เหตุที่ขับเคลื่อนเรื่องโซล่าร์เซลล์อย่างเต็มที่ เพราะอยากเห็นคนไทยพึ่งตนเองในเรื่องพลังงานได้ และคนไทยสนใจเรื่องนี้มากเพราะอยากใช้พลังงานสะอาดและอยากช่วยประเทศชาติลดการผลิตไฟฟ้า ลดการใช้ฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งเมืองไทยมีแดดเยอะมากอากาศร้อนมาก ควรมีการใช้ประโยชน์จากแดดให้มากที่สุด ซึ่งแม้ว่าตอนนี้รัฐยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ แต่อาตมาก็จะไม่ท้อ จะมุ่งมั่นให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องนี้ต่อไปและช่วยเหลือคนที่ยากไร้ต่อไป

โดยในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้จะมีการอบรมเรื่องโซลาร์เซลล์เพื่อให้ความรู้ประชาชนที่สนใจ ต่อจากนั้นในวันที่ 9-11 พ.ค.นี้ อาตมาจะเดินไปที่ภูเก็ตทันที เพื่อช่วยเหลือชาวเลที่หาดราไวย์ ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้กว่า 20 หลังคาเรือน เพื่อนำโซลาเซลล์ซึ่งเป็นแสงสว่างไปให้พวกเขา โดยอย่างน้อยทุกบ้านจะมีไฟฟ้าใช้ 2 หลอด และ พัดลมคลายร้อน 1 ตัว หวังว่าจะช่วยเขาได้บ้าง ซึ่งต้องขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่บริจาคเงินสนับสนุนการช่วยเหลือชาวบ้านครั้งนี้ เพราะเราคนไทยต้องช่วยกัน

หลังกลับมาจากออสเตรเลีย พระครูวิมลปัญญาคุณ ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวเลที่หาดราไวย์ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือติดตั้งโซล่าเซลล์ให้กับชาวบ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ