ย้อนรอย 2 ปีแผ่นดินไหวเชียงราย สกว.อบรมเสริมกำลังช่างท้องถิ่น

พุธ ๑๑ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๒๒
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะวิจัยโครงการเผยแพร่ความรู้งานวิจัยเรื่อง "การออกแบบ ก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหวสู่วิศวกรและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว" ซึ่งมี ศ. ดร.อมร พิมานมาศ เป็นหัวหน้าโครงการ จัดกิจกรรมโครงการสื่อมวลชนสัญจรและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "ย้อนรอย 2 ปี แผ่นดินไหวเชียงราย: การก่อสร้างและเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนต้านแผ่นดินไหว" ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2559 ในพื้นที่ อ.แม่ลาว และ อ.พาน จังหวัดเชียงราย ในโอกาสครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหวเชียงราย เพื่อเผยแพร่และขยายผลองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์แก่สาธารณะ ผ่านการสำรวจพื้นที่และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้มีความพร้อมในการออกแบบ ก่อสร้าง และเสริมความมั่นคงอาคารบ้านเรือนเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

คณะนักวิจัยได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจรอยเลื่อน ตำแหน่งศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว และสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.1 ริกเตอร์ ที่ระดับความลึก 7 กม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กม. ส่งผลกระทบใน 4 อำเภอ คือ แม่ลาว แม่สรวย พาน และ อ.เมือง ทำให้โครงสร้างได้รับความเสียหาย เกิดปรากฏการณ์ทรายเหลวในพื้นที่ดินทรายมีน้ำอยู่ข้างใน เมื่อเกิดการสั่นตัวอย่างรุนแรงทำให้น้ำดันตัวขึ้นมา ทรายเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ทำให้ถนนและตลิ่งพัง บริเวณที่เสียหายหนักที่สุดคือ อ.แม่ลาว และแม่สรวย เนื่องจากอยู่ใกล้จุดศูนย์กลาง

ทั้งนี้เชียงรายมี 3 รอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่จัน และรอยเลื่อนแม่อิง เดิมนักวิจัยแผ่นดินไหวมีความกังวลรอยเลื่อนแม่จันมากที่สุด เพราะเป็นรอยเลื่อนที่ยาวและมีขนาดใหญ่ แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในปี 2557 ทำให้นักวิจัยกลับมาให้ความสำคัญกับกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา โดยเฉพาะรอยเลื่อนย่อยแม่ลาวซึ่งอยู่ส่วนบนของรอยเลื่อนพะเยา เลื่อนในแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้ายเป็นทิศทางหลัก ผสมกับการเลื่อนลงในแนวดิ่งเล็กน้อย และมีทิศทางการวางตัวของแนวรอยเลื่อน 76 องศา ในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตำแหน่งของกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังพะเยาตอนบน

จากการติดตามบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายใน อ.แม่ลาว พบว่ามีรอยร้าวบนพื้นดินภายในบริเวณบ้านบางหลัง โดยมีทิศทางขนานกับรอยเลื่อนแม่ลาว และอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่เกิน 10 กม. ทั้งนี้บ้านที่ยกสูงใต้ถุนโล่งไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว มีพฤติกรรมชั้นอ่อน (Soft Story) จึงเกิดการวิบัติที่หัวเสาและโคนเสา เนื่องจากไม่เสริมเหล็กปลอกต้านทานแรงเฉือนที่เพียงพอ บ้านจึงพังทั้งหลัง

ศ. ดร.อมรระบุว่า หลังจากผ่านไปสองปีส่วนใหญ่บ้านที่เสียหายได้รับการซ่อมแซมแล้ว แต่ไม่ได้เสริมกำลังถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ นักวิจัยจึงได้ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้าน โดยบ้านที่เสียหายบางส่วน เช่น เสาตอม่อปูนแตก เหล็กเสริมงอหรือหัก ให้เสริมด้วยเหล็กเส้น และพอกปูนให้หนาขึ้นอย่างน้อยให้ได้ขนาด 25x25 ซม.ขึ้นไป ส่วนบ้านไม้ในจุดเชื่อมต่อระหว่างคานกับเสา ให้ใช้แผ่นเหล็กประกบ ใส่น็อตยึดอย่างน้อย 4 ตัวให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ยึดกับเสาปูนอย่างแข็งแรง เพราะหากยึดคานไม้ที่รับตัวบ้านกับเสาปูนไม่ดี เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเสาจะยังคงอยู่แต่ตัวบ้านจะพังลงมา เสาบ้านบางหลังพอกปูนหนาแต่ไม่ได้เสริมเหล็ก จึงอาจมีความเสี่ยงอยู่ ทั้งนี้ยังคงมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ให้ความสำคัญกับการเสริมกำลัง เพราะคิดว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงยังซ่อมแซมบ้านตามแบบเดิมและใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

ส่วนที่ อ.พาน ซึ่งตั้งอยู่ชั้นดินอ่อน ดินตะกอนทำให้แรงแผ่นดินไหวขยายมากกว่าเดิม 1.6 เท่า ส่งผลให้อาคารเรียนของโรงเรียนพานพิทยาคมซึ่งมีความสูง 4 ชั้นพังเสียหาย เดิมอาคารมีลักษณะเป็นใต้ถุนโล่ง ชั้นล่างอ่อน มีการต่อเติมในชั้นที่ 1 โดยก่อผนังปิด เสามีการเสริมเหล็กปลอกที่ระยะห่างเกินไปไม่เหมาะสม เหล็กเสริมตามยาวเป็นเหล็กเส้นกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 มม. เมื่อเกิดแผ่นดินไหวทำให้มีการวิบัติแบบเฉือนในเสาเกือบทุกต้นในชั้นล่างเหนือตำแหน่งที่ก่อผนังขึ้น อีกทั้งตรวจพบรอยร้าวที่ชานพักบันได รอยร้าวในผนังอาคารชั้น จึงต้องทุบทิ้งและก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 42.18 ล้านบาท และมีนักวิจัย สกว. เป็นผู้ออกแบบ

รศ. ดร.ไพบูลย์ ปัญญาคะโป นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. หนึ่งในผู้ออกแบบอาคารเรียนหลังใหม่ กล่าวว่า ได้เสริมกำลังโดยใช้กำแพงรับแรงเฉือน (Shear wall) ความหนา 30 ซม. จำนวน 6 แผ่น อีกทั้งระยะระหว่างเหล็กปลอกมีความถี่และหนาแน่น และใช้เสาขนาด 55 ซม. ทำให้มีความแข็งแรงมากกว่ามาตรฐานทั่วไปมาก ขณะที่นายสนอง สุจริต ผู้อำนวยการโรงเรียนพานพิทยาคม เผยว่า อาคารมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่เพื่อให้อาคารเรียนพระราชทานแห่งนี้มีความมั่นคงแข็งแรงมากที่สุด จึงต้องขยายเวลาก่อสร้างออกไปเพราะมีการเสริมกำลังหลายจุด โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ด้านการอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและฝึกปฏิบัติการ เพื่อสร้างความพร้อมเชิงวิศวกรรมโครงสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่เชียงราย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว. และสภาวิศวกร มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมประมาณ 100 คน ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง "บทเรียนจากแผ่นดินไหวแม่ลาว เนปาล ไต้หวัน คุมะโมโต้ ญี่ปุ่นและเอกวาดอร์ สู่การเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับอาคารบ้านเรือนในประเทศไทย" โดย ศ. ดร.อมร และการบรรยายเรื่อง "การเสริมผนังบ้านเรือนเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว" โดย รศ. ดร.ไพบูลย์ ซึ่งเสริมกำลังผนังก่ออิฐในโครงอาคาร ใช้ตะแกรงเหล็กฉีกและอุปกรณ์ยึด เพื่อให้ผนังเป็นส่วนหนึ่งของการรับแรง รวมถึงการฝึกปฏิบัติการเสริมเหล็กในคาน เสา จุดต่อ และผนังให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวอย่างเหมาะสม โดย ผศ. ดร.ปรีดา ไชยมหาวัน และ ดร.ภาณุวัฒน์ จ้อยกลัด นักวิจัยโครงการฯ ที่ร่วมกันถ่ายทอดความรู้ให้แก่วิศวกรในพื้นที่ ช่างท้องถิ่น และนักศึกษา

"สกว. และนักวิจัยตระหนักถึงการสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัยสู่ชุมชนในวงกว้างผ่านสื่อมวลชน ซึ่งนักวิจัยมองว่าเชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวสูงสุดในประเทศไทย และยังจะมีเกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นการก่อสร้างอาคารให้มั่นคงและแข็งแรงจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด เพราะอาคารที่แข็งแรงนอกจากจะช่วยไม่ให้คนเสียชีวิตแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์เป็นศูนย์พักพิงแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติได้อีก ทั้งนี้พื้นที่ในจังหวัดเชียงรายที่ถูกทำลายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนเพราะมีประสบการณ์ตรง แต่พื้นที่รอบนอกและจังหวัดอื่น ๆ จะมีความตื่นตัวน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียซ้ำขึ้นอีก จึงอยากให้ชาวบ้านมีความตื่นตัว เพราะแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา" ศ. ดร.อมรกล่าว

ศ. ดร.อมร กล่าวเสริมว่า มาตรการที่จะดำเนินการต่อไปคือ การบังคับเชิงกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้รัฐบาลเห็นถึงความปลอดภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งนี้อยากให้หน่วยงานราชการสำรวจบ้านเรือนที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมและช่วยเหลืองบประมาณ สำหรับการปรับปรุงอาคารบ้านเรือนในแนวรอยเลื่อน 14 แห่งทั่วประเทศไทย คือ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. เป็นแบบมาตรฐานทั่วประเทศ ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวชี้ให้เห็นว่าถ้าอยู่ใกล้รอยเลื่อนอาจไม่แข็งแรงมากพอ จึงอยากช่วยเหลือปรับแบบมาตรฐานให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ นอกจากนี้ยังพยายามผลักดันการทำแบบมาตรฐานบ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศด้วย รวมถึงโรงพยาบาลซึ่งเป็นอาคารควบคุมที่มีความสำคัญ เช่นเดียวกับอาคารของเอกชนซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ก่อสร้างตามมาตรฐานต้านแผ่นดินไหว ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version