ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ SVI ที่ 'BBB+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ศุกร์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๑๑:๒๗
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ของ บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ที่ 'BBB+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F2(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การฟื้นตัวของธุรกิจหลังเหตุการณ์ไฟไหม้: ธุรกิจของ SVI ฟื้นตัวกลับมาหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ในช่วงปลายปี 2557 โดยบริษัทน่าจะสามารถฟื้นฟูกำลังผลิตให้กลับมาเท่ากับก่อนเหตุการณ์ไฟไหม้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 รายได้ของบริษัท ลดลงเพียง 2% ในปี 2558 ซึ่งดีกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะเป็นช่วงที่บริษัทอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกำลังผลิต ฟิทช์เชื่อว่า SVI จะสามารถรักษาสถานะทางธุรกิจ และฐานะการเงินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า SVI น่าจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.0 เท่าได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทซึ่งอยู่ที่ประมาณ 400-600 ล้านบาทต่อปี น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนจำนวน 400-600 ล้านบาท ต่อปี และเงินปันผล ในช่วงปี 2559-2560 นอกจากนี้ ณ สิ้นปี 2558 บริษัทมีเงินสดมากกว่าหนี้สินจำนวน 3.0 พันล้านบาท

โอกาสเติบโตในธุรกิจ EMS: SVI ยังคงได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของตลาดรับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Manufacturing Service) ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนแนวโน้มที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้นแบบจะว่าจ้างผู้รับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ผลิตแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (consumer electronic) บริษัทเน้นการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับบนประเภท non-traditional ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีความผันผวนจากความต้องการที่ต่ำกว่า และมีอัตราส่วนกำไรจากการผลิตที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาผลการเนินงาน และสถานะทางธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าสภาวะอุตสาหกรรมจะมีความท้าทาย

การเติบโตโดยการควบรวมกิจการ: การเข้าซื้อกิจการของ Seidel Electronics Group Company (Seidel) น่าจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีกำไรสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ รถยนต์ ระบบขนส่ง และการแพทย์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ Seidel ผลิตอยู่ นอกจากนี้การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวน่าจะช่วยลดการพึ่งพารายได้จากลูกค้าในกลุ่มประเทศ Scandinavia ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70% ของรายได้ในปี 2558 SVI ได้เข้าซื้อกิจการของ Seidel ซึ่งเป็นผู้รับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีโรงงานผลิตในประเทศออสเตรีย สโลวาเกีย และฮังการี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559

ขนาดและการกระจุกตัวของรายได้: ปัจจัยเสี่ยงของ SVI ประกอบด้วยการที่บริษัทมีกลุ่มลูกค้าที่กระจุกตัว แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจรับประกอบแผงวงจรสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภท non-traditional และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ SVI ยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจส่งผลให้บริษัทรับรู้รายได้ในรูปสกุลเงินบาทลดลง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกลดทอนบางส่วนจากการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุตฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

- รายได้ในปี 2559 ปรับตัวเพิ่ม 20% จากการเข้าซื้อกิจการของ Seidel

- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ลดลงมาอยู่ที่ 8% (2558: 9.5%) จากการรวมงบการเงินของ Seidel ซึ่งมีอัตราส่วนกำไรที่ต่ำกว่าของ SVI, EBITDAR margin ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.5%-9.0% ในปี 2560 และ 2561

- การลงทุนจำนวน 600 ล้านบาทในปี 2559 และ 400 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2560

- เข้าซื้อกิจการของ Seidel ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559

- จ่ายเงินปันผลที่ 40% ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ:

- หนี้สินสุทธิของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการจ่ายเงินปันผลที่สูง การลงทุนที่สูงกว่าที่คาดไว้ หรือการเข้าซื้อกิจการอื่นโดยใช้เงินทุนจากการกู้ยืมที่สูง (Debt Funded Acquisition) ซึ่งส่งผลให้ FFO-Adjusted Net Leverage สูงกว่า 1.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2558 บริษัทไม่มีหนี้สิน)

- EBITDAR Margin ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 6% อย่างต่อเนื่อง (ปี 2558 บริษัทมี EBITDAR margin อยู่ที่ 9.5%)

- สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ

ปัจจัยบวก:

บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วน FFO-Adjusted Net Leverage ให้อยู่ต่ำกว่า 1.0 เท่า และอัตราส่วน FFO-Adjusted Leverage ให้อยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2558: 0.1 เท่า) และสามารถ

- เพิ่มขนาดธุรกิจ โดยมีรายได้สูงกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปี 2558 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดการกระจุกตัวของลูกค้า และเพิ่มการกระจายตัวของกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคอื่นๆ หรือ

- เพิ่ม EBITDAR Margin ให้อยู่ในระดับสูงกว่า 10% อย่างต่อเนื่อง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ เขตบึงกุ่มแจงประเด็นร้องเรียน - สร้างความเข้าใจการสั่งรื้ออาคารต่อเติมปากซอยนวมินทร์ 24
๑๖:๑๓ MOTHER เปิดฉากเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์โรดโชว์ออนไลน์ 22 ม.ค.68
๑๖:๐๑ M STUDIO ขึ้นแท่นสตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยอันดับ 1
๑๖:๐๐ จับตา จัดเก็บภาษีความเค็มขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
๑๕:๐๐ จุฬาฯ ร่วมกับ PMCU ชวนน้องๆนิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ส่งผลงานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ประกวดภายใต้แนวคิด Chula For
๑๕:๐๐ กลุ่มสมอทอง เข้าร่วมโครงการ Kick off การขับเคลื่อนปาล์มน้ำมัน
๑๕:๐๐ สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
๑๕:๒๐ ลีเอนจาง คลินิก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในวงการความงาม คว้ารางวัล Silver Shine ประเดิมศักราชใหม่! ในงาน Nebula Nova: The New Star of
๑๔:๑๗ กลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่งน้ำตาลแบรนด์ ษฎา สร้างสีสันงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2568 พร้อมเปิดตัวน้ำตาลกรวดธรรมชาติ
๑๔:๔๓ อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ