บริษัทไทยทุ่มงบซื้อแผนดูแลสุขภาพและผลิตภาพมากขึ้น นายจ้างไทยชี้ความเครียด ออกกำลังกายน้อยและโรคอ้วน ตัวการหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและผลิตภาพของพนักงาน

ศุกร์ ๑๓ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๑๖:๔๒
จากรายงานการสำรวจ Willis Towers Watson's Staying@Work ประจำปี 2015/2016 ซึ่งจัดทำโดยวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (NASDAQ: WLTW) บริษัทที่ปรึกษา

โบรกเกอร์ และโซลูชั่นส์ชั้นนำระดับโลก ระบุว่า บริษัทในไทยจำนวนมากขึ้นมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับโปรแกรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อหาแนวทางแบบองค์รวมและหลากหลายด้านการดูแลสุขภาพและผลิตภาพสำหรับพนักงาน (Health and Productivity: H&P) โดยร้อยละ 78 ของบริษัทในประเทศไทยมีการสำรองงบประมาณที่เพียงพอที่จะเพิ่มแผน H&P ใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับพนักงานกลุ่มเป้าหมาย และร้อยละ 79 ของบริษัทในไทยยังกำหนดงบประมาณสำหรับนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาสุขภาพและผลิตภาพของพนักงานให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งแนวโน้มการลงทุนในแผน H&P ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ (สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกถึงร้อยละ 42 และร้อยละ 33 ตามลำดับ)

ปัจจุบัน แนวทางด้านการดูแลและส่งเสริมสุขภาวะและสุขภาพที่ดีของบริษัทต่างๆ มีมากกว่าแผนดูแลสุขภาพพื้นฐานแบบเดิม ๆ อย่างการดูแลสุขภาพร่างกาย การออกกำลังกาย และโภชนาการ บริษัทชั้นนำหลายแห่งได้นำเอามิติด้านอื่น ๆ มารวมไว้ในแผนการดูแลสุขภาพด้วย อาทิ ด้านอารมณ์ สิ่งแวดล้อม การเงิน สติปัญญา สังคม และสุขภาวะทางจิต

ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างเชื่อว่า การสร้างบรรยากาศที่ทำงานให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ โดยผลการสำรวจ Staying@Work พบว่า ร้อยละ 92 ของนายจ้างไทยให้ความสำคัญกับแผน H&P ในฐานะเป็นองค์ประกอบหลักที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร นอกจากนี้ วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ยังเผยผลสำรวจประจำปี 2015/2016 เกี่ยวกับทัศนคติด้านสวัสดิการขององค์กร (Willis Towers Watson's 2015/2016 Global Benefits Attitude Survey: GBAS) พบว่า ร้อยละ 71 ของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า นายจ้างควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันที่ตรงกันจากร้อยละ 80 ของนายจ้างไทย (และร้อยละ 72 ในเอเชียแปซิฟิก) ที่ได้คาดการณ์ว่าจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณของบริษัทให้กับแผน H&P ภายในสองปีข้างหน้าอีกด้วย

จากผลสำรวจเรื่อง Staying@Work ยังพบว่า พนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสมัครใจที่จะรับข้อเสนอแผนส่งเสริมสุขภาพที่นายจ้างเป็นผู้จัดหาให้ มากกว่าพนักงานในภูมิภาคอื่น ๆ อย่างอเมริกาเหนือและยุโรป แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว พนักงานจำนวนมากยังคงวิตกกังวลกับการที่นายจ้างสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวด้านสุขภาพของตนเองได้ ทั้งนี้เกือบหนึ่งในสามของพนักงานในแถบเอเชียแปซิฟิกบอกว่าพวกเขา "ไม่ไว้วางใจ" ที่นายจ้างสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพและสุขภาวะของตนเอง

"นายจ้างจำนวนมากยังคงมุ่งเน้นให้พนักงานเห็นความสำคัญของแผนเพื่อสุขภาพและสุขภาวะ โดยบริษัทที่มีสำนักงานในไทยกล่าวว่า สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือการส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมแผนดังกล่าวมากขึ้น" คริส เมย์ส ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าว

"นายจ้างจะต้องทำให้พนักงานเกิดความไว้วางใจในเรื่องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการนำข้อมูลส่วนตัวของพนักงานไปใช้ เพื่อให้พนักงานเริ่มเห็นว่านายจ้างเป็นที่พึ่งพาด้านการแก้ปัญหาสุขภาพและสุขภาวะ สำหรับพนักงานบางคน การเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพและสุขภาวะจะต้องมีการสอบถามกันเป็นการส่วนตัวเสียก่อน ในกรณีนี้ นายจ้างอาจเป็นผู้ริเริ่มด้วยการจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อสำหรับพนักงานเหล่านี้ ในขณะที่พนักงานจัดการแก้ปัญหาสุขภาพด้วยตนเอง" คริส เมย์ส กล่าว

ปัญหาด้านสุขภาพและผลิตภาพอันดับต้นๆ

สำหรับประเทศไทย ปัญหาด้านสุขภาพและผลิตภาพสามอันดับแรกที่นายจ้างมองว่าส่งผลต่อสุขภาพและสุขภาวะของพนักงานมากที่สุด ได้แก่ ความเครียด (ร้อยละ 64) การขาดการออกกำลังกาย (ร้อยละ 55) และโรคอ้วน (ร้อยละ 45) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกด้วยเช่นกัน ส่วนสาเหตุอีกสองอันดับรองลงมาได้แก่ การได้รับโภชนาการที่ไม่ครบถ้วน (ร้อยละ 35) และการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน (presenteeism) (ร้อยละ 32) ซึ่งหมายถึงการอยู่ในที่ทำงาน แต่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

เนื่องจากการขาดการออกกำลังกายและโรคอ้วนถือเป็นเรื่องสำคัญ ร้อยละ 48 ของบริษัทไทยจึงสนับสนุนกลุ่มเครือข่ายหรือชมรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะในที่ทำงาน ซึ่งร้อยละ 27 ของชมรมเหล่านี้เสนอโปรแกรมการควบคุมน้ำหนัก และอีกร้อยละ 30 สนับสนุนด้านสถานที่ออกกำลังกาย นอกจากนี้ ร้อยละ 30 ของบริษัทไทยยังจัดให้มีเมนูอาหารแคลอรี่ต่ำให้พนักงานได้เลือกในโรงอาหารของบริษัทด้วย ซึ่งหากดำเนินตามนโยบายดังกล่าว บริษัทไทยคาดหวังว่าจะสามารถรับมือกับปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่สำคัญทั้งสองประการได้ และช่วยให้ได้บุคลากรที่มีสุขภาพแข็งแรง ทุ่มเทกับงานและสามารถสร้างผลงานออกมาได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ดร. ราเจชรี พาเรค ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพและสุขภาวะขององค์กรประจำภูมิภาคเอเชียและออส

ตราเลเชีย บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องสำคัญที่นายจ้างต้องตระหนักว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน ยกตัวอย่างเช่น มีผลการวิจัยที่พบว่าการขาดการออกกำลังกาย ภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม และการพักผ่อนไม่เพียงพอ สัมพันธ์กับโรคอ้วนและความเครียดอย่างยิ่งยวด ความเชื่อมโยงนี้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมความพยายามของนายจ้างที่จะหยิบยกปัญหาเป็นรายบุคคลอาจไม่สามารถทำให้สุขภาพและสุขภาวะของพนักงานดีขึ้นได้"

ลดช่องว่างด้านทัศนคติเรื่องความเครียดในที่ทำงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

ผลสำรวจเกี่ยวกับทัศนคติของพนักงานด้านสวัสดิการขององค์กร (Global Benefits Attitude Survey: GBAS) เผยว่า ปัจจัยอันดับแรกที่ทำให้พนักงานเกิดความเครียดคือ ค่าตอบแทนที่น้อย ในขณะที่นายจ้างมองว่าปัจจัยนี้อยู่ในอันดับสิบของปัจจัยที่ทำให้ลูกจ้างเกิดความเครียด ในขณะเดียวกัน นายจ้างมองว่าการขาดความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวเป็นปัจจัยหลักของความเครียดในที่ทำงาน ขณะที่พนักงานมองว่าปัจจัยนี้อยู่ในอันดับที่สี่ ยิ่งไปกว่านั้น นายจ้างยังประเมินปัจจัยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ย่ำแย่ ในแง่ขาดความเป็นทีมเวิร์คและความรับผิดชอบ ว่าเป็นเพียงปัจจัยความเครียดอันดับท้าย ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมุมมองของพนักงาน

ทัศนคติที่แตกต่างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเรื่องความเครียดในที่ทำงาน

"กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้คือ การหาวิธีลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของพนักงาน" คริส เมย์ส กล่าว "จากทัศนคติที่แตกต่างกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องที่ว่าค่าตอบแทนน้อยมีผลต่อความเครียดในที่ทำงานมากน้อยแค่ไหน ทำให้เห็นชัดเจนว่า นายจ้างจะต้องพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ในกลยุทธ์เกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนขององค์กรให้ละเอียดครอบคลุมที่สุด"

จุดหมายต่อไปขององค์กร

จากผลการสำรวจ บริษัทในไทยเริ่มคิดแบบองค์รวมและเป็นเชิงกลยุทธ์มากขึ้นกว่าบริษัททั่วไปในต่างประเทศ (ร้อยละ 56 ของบริษัททั่วโลกไม่มีแผนกลยุทธ์ด้าน H&P) โดยมีเพียงร้อยละ 45 ของบริษัทไทยที่เสนอแผน H&P โดยไม่มีกลยุทธ์สนับสนุน อย่างไรก็ดี แนวโน้มดังกล่าวเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเท่านั้น

"สิ่งสำคัญคือ บริษัทในไทยควรหันมาสร้างกลยุทธ์ด้าน H&P ที่มีประสิทธิภาพและได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมกับพนักงานแต่ละกลุ่มซึ่งจะช่วยประเมินและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแผน H&P อย่างต่อเนื่อง" คริส เมย์ส กล่าว "ปัจจุบันจากรายงาน มีเพียงร้อยละ 6 ของบริษัทในไทยที่มีกลยุทธ์ด้าน H&P เพื่อสร้างความแตกต่าง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าอีกร้อยละ 42 ของบริษัทในไทยตั้งเป้าที่จะมีแผน H&P เช่นนี้ให้ได้ภายในสามปี"

บริษัทในไทยควรเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับการวัดคุณค่าและประเมินผลของแผน H&P ที่มีต่อปัจจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่าย หรือประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในเกณฑ์ระยะเวลาหลายปี ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 6 ของบริษัทในไทยที่มีการประเมินผลในลักษณะนี้ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าบริษัททั่วโลก (ร้อยละ 22) และบริษัทในสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 39) เป็นอย่างมาก

"เนื่องด้วยบริษัทในไทยมีงบประมาณที่จะใช้แผน H&P และเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงควรมุ่งสร้างกลไกที่จะช่วยรวบรวม วัดผล และประเมินความสำเร็จของแผนงานดังกล่าวด้วย" คริส เมย์ส กล่าว

ภายในปี 2561 กว่าครึ่งของกลุ่มนายจ้างไทยหวังพึ่งพาบริการระดับอาชีพที่จะช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ที่เอื้อให้เกิดไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพและมีสุขภาวะที่ดี ดร. ราเจชรี พาเรค กล่าวว่า "งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า นายจ้างในแถบภูมิภาคเอเชียมีความมุ่งมั่นปรารถนาอันยิ่งใหญ่ และวิถีทางที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพแข็งแรงและสุขภาวะที่ดีนั้นเป็นหนทางที่ยาวไกล การสร้างกลยุทธ์ด้าน H&P ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอุตสาหะอย่างยิ่งยวดควบคู่ไปกับการตัดสินใจในรูปแบบองค์กร ตลอดจนการตั้งเป้าหมายที่ตรงใจพนักงาน และการทำตามกลยุทธ์จนประสบผลสำเร็จที่ตั้งใจไว้นั้นถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญ ไม่ใช่การแข่งขันใด ๆ ทั้งสิ้น"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version