พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (กลาง) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ และนายศุภชัย เจียรวนนท์ (ที่ 4 จากซ้าย) รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ร่วมเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการโรงเรียนประชารัฐ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินโครงการให้แก่ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ 3,342 คน และรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 225 คนที่เข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1 ซึ่งในโอกาสนี้ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ได้กล่าวเปิดพร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ "นโยบายโครงการประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" กระตุ้นให้ผู้นำโรงเรียน มีความเข้าใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โครงการประชารัฐทำตามแผนการพัฒนาโรงเรียน โดยในระยะยาว โรงเรียนจะต้องสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับการศึกษาไทย และบทบาทภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาผู้นำด้านการศึกษาที่ยั่งยืน" นำเสนอการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการปฏิรูปการศึกษาที่มียุทธศาสตร์ 10 ด้าน (Strategic Transformation) ซึ่งประกอบด้วย ความโปร่งใสของข้อมูล การเข้าถึงไอซีทีของครูและนักเรียนทุกโรงเรียน นำกลไกตลาดมาปรับใช้ในโรงเรียนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาโรงเรียน เปลี่ยนวิธีเรียนจากครูเป็นศูนย์กลางเป็นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ หาข้อมูลด้วยตนเอง การพัฒนาผู้นำโรงเรียน การปลูกฝังคุณธรรม จิตอาสาให้แก่นักเรียน นำครูต่างประเทศเข้ามาช่วยสอน การสร้างทักษะภาษาอังกฤษให้แก่นักเรียน การสนับสนุนเยาวชนที่เป็นคนดี มีความเป็นผู้นำ ให้มีโอกาสทางการศึกษาเพื่อกลับมาพัฒนาท้องถิ่น และการสร้างศูนย์กลางการศึกษา 2.โครงการพัฒนาผู้นำ CONNEXT ED (School Partner Leadership Program) ซึ่งเป็นโครงการที่เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ (School Sponsor) จะคัดเลือกผู้นำในองค์กร (School Partner) เพื่อเข้าร่วมลงพื้นที่ วางแผนพัฒนาร่วมกับผู้นำโรงเรียน และนำเสนอแผนงานเพื่อของบประมาณสนับสนุนจาก School Sponsor และ 3.โครงการมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นเลิศด้านงานวิจัย (Education Hubs) สนับสนุนกองทุนเพื่องานวิจัยในมหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการทั้งหมดดังกล่าว มีขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 3 ข้อ คือ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมงาน ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมนำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ โดยคณะทำงานกลุ่มย่อยทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับคุณภาพทางการจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษาและการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาล กลุ่มที่ 2 การพัฒนาหลักสูตรต้นแบบกระบวนการเรียนรู้ การประเมินผลกิจกรรมส่งเสริมด้านคุณธรรม จิตสาธารณะ และด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ กลุ่มที่ 3 การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ครู และการมีส่วนร่วมของชุมชน กลุ่มที่ 4 การพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสร้างแรงจูงใจให้กับบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาของชาติ และกลุ่มที่ 5 การพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมของผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาค นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกิจกรรม Action Learning ที่แบ่งกลุ่มย่อยผู้นำโรงเรียน เพื่อระดมความคิดจากทั้ง 19 Clusters พร้อมชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหา อุปสรรค และความคาดหวังของโรงเรียน อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อนำไปสู่การวางแผนการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำต่อไป
ในภาพจากซ้ายไปขวา
1. นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ในฐานะตัวแทนจากภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
2. ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ตัวแทนจากภาคประชาสังคม
3. คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ ตัวแทนจากภาคประชาสังคม
4. นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ
5. พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ
6. พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
7. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
8. นางนันทวรรณ ชื่นศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
9. ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา