โดยคาดการณ์ว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 ราย และเสียชีวิตปีละ 12,000 ราย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหาวัณโรคดื้อยามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดประมาณปีละ 2,000 ราย ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านการดูแลผู้ป้วย ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคดื้อยารุนแรงมีค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อคน เป็นต้น ถึงแม้ว่าที่ผ่านมามีการดำเนินงานป้องกัน ควบคุมวัณโรคอย่างต่อเนื่อง แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กาจำนวนผู้ป่วยวัณโรคของประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนคณะกรรมการพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ.2559–2563 ได้ร่วมพัฒนาและปรับปรุง "ร่าง"แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560–2564 (ระยะเวลา 5 ปี) เพื่อกำหนดทิศทางและเป็นกลไกสำคัญในการยุติปัญหาวัณโรคอย่างจริงจัง และเห็นชอบผลักดันเข้าสู่ยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและควบคุมวัณโรคแห่งชาติ และพิจารณาร่างแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ.2560–2564 ต่อไป
สาระสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ ฉบับนี้ คือ "ลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลงร้อยละ 25 (ร้อยละ 5 ต่อปี) จาก 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2557 ให้เหลือ 128 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564" เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การยุติปัญหาวัณโรคที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยแผนยุทธศาสตร์วัณโรคฯ นี้มีวัตถุประสงค์ 5 ข้อ ดังนี้
1.เพื่อเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุม 100% โดยให้กลุ่มเสี่ยงได้รับการคัดกรองด้วยการวินิจฉัยที่รวดเร็วโดยเทคโนโลยีอณูชีววิทยา รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาและการดูแลที่เป็นมาตรฐาน
2.เพื่อลดอัตราตายในผู้ป่วยวัณโรคลง 50% ภายในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2558
3.เพื่อสร้างความเข้มแข็งในความเป็นผู้นำ และศักยภาพการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ของการป้องกันและควบคุมวัณโรค
4.เพื่อสร้างความยั่งยืนของการสนับสนุนเชิงนโยบายระดับการเมืองอย่างจริงจัง ด้วยการระดมทรัพยากรในการดำเนินงาน ป้องกัน ดูแล และควบคุมวัณโรค
5.เพื่อเร่งรัดการศึกษาวิจัยที่สามารถชี้นำ แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานวัณโรค รวมทั้งส่งเสริม นวัตกรรมสำหรับการพัฒนางานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตั้งเป้าหมายไปสู่การยุติการระบาดของวัณโรค(End TB) ให้อัตราป่วยรายใหม่ลดเหลือน้อยกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน ใน 20 ปีข้างหน้า(ค.ศ.2035 หรือ พ.ศ.2578) เป็นเป้าหมายระดับโลก หากประเทศไทยจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ต้องลดให้ได้ปีละ 12% ต่อเนื่องไปทุกปี จากเดิมในช่วงสิบปีที่ผ่านมาไทยสามารถลดอัตราป่วยรายใหม่ได้ปีละ 2.7% จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านห้องปฎิบัติการ การตรวจที่ทันสมัย รวดเร็ว และแม่นยำ รวมถึงการใช้ยาสำหรับวัณโรคดื้อยา เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะรักษาผู้ป่วยด้วยสูตรยาแนวที่ 1 ปีละ 90,378 ราย ภายในปี 2564 ซึ่งจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวคิดเป็น 80% ของจำนวนที่คาดประมาณไว้ เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่คาดว่า 90% ของผู้ป่วยที่ได้รับการรายงานจะได้รับการรักษา หรือจำนวน 2,200 ราย ภายในปี 2564
ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการเจ็บป่วย โดยอาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรค หากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422