ข้อเท็จจริงกรณี บมจ. ปตท.คืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

พฤหัส ๑๙ พฤษภาคม ๒๐๑๖ ๑๗:๓๗
นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่า บมจ. ปตท.คืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน และกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ตนในฐานะเป็นผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่ง ขอเรียนชี้แจงการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งบางส่วนที่สำคัญเป็นข้อเท็จจริงที่ คตง.และ สตง. ตั้งใจไม่แถลงให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบ โดยขอชี้แจงเป็น 2 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องความครบถ้วนถูกต้องของทรัพย์สินที่ บมจ.ปตท.จะต้องแบ่งแยกและโอนให้กระทรวงการคลัง

วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดี รวม 4 ราย คือ ครม. ที่ 1, นายกรัฐมนตรี ที่ 2, กระทรวงพลังงาน ที่ 3, และ บมจ.ปตท. ที่ 4 รวมกันทำการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ครม. มีมติมอบหมายกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้ สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้ง ทางกฎหมายให้หารือ คณะกรรมการกฤษฎีกาให้เป็นที่ยุติต่อไป

กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดำเนินการ กรมธนารักษ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 โดยในระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการที่กรมธนารักษ์แต่งตั้ง บมจ.ปตท. ก็ได้รายงานผลการดำเนินการทุกระยะให้ศาลปกครองสูงสุดทราบ โดยได้ดำเนินการตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะแบ่งแยกเสร็จสิ้นและรายงานให้กระทรวงการคลังเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 โดยมีการลงนามในบันทึกแบ่งแยกทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ซึ่งในบันทึกการแบ่งแยกก็มีข้อตกลงว่า ถ้าศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่าต้องแบ่งแยกเพิ่มขึ้นหรือลดลง กรมธนารักษ์และ บมจ.ปตท. ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น ต่อมาได้มีการลงนามในสัญญาให้ใช้ที่ราชพัสดุ โดยมีค่าตอบแทนระหว่างกรมธนารักษ์กับ บมจ.ปตท. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551

วันที่ 11 มิถุนายน 2551 กระทรวงการคลังได้แจ้ง สตง.ว่าได้ตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินของ บมจ.ปตท.ที่จะโอนให้กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ สตง.ตรวจสอบ หลังจากนั้นก็ได้มีการไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตามกฎหมาย ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นที่ตั้งของทรัพย์สิน และแล้วเสร็จครบถ้วนเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551

วันที่ 25 ธันวาคม 2551 บมจ.ปตท.ได้รายงานสรุปผลการดำเนินการต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด ได้มีความเห็นว่า มีการดำเนินการตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สตง. มีหนังสือลับถึงศาลปกครองสูงสุดและนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษายังไม่ครบ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า "ทั้งนี้การดำเนินการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินของ บมจ. ปตท. ให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดจะครบถ้วนและเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดซึ่งคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่ยุติ"

วันที่ 10 มีนาคม 2552 ศาลปกครองได้มีหนังสือตอบ สตง.ว่า ศาลปกครองได้ติดตามการดำเนินการตามคำพิพากษาและรายงานให้ศาลทราบ ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้อง คดีที่ 1 – 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งเอกสารฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 และวันที่ 10 มีนาคม 2552 นี้ คตง. และ สตง. ตั้งใจปกปิดไม่แถลงต่อสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการให้ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ในระหว่างดำเนินการก็ได้มีผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อให้วินิจฉัยว่าการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินดังกล่าว ยังไม่ครบถ้วนอีกหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องและยืนยันท้ายคำฟ้องมาโดยตลอดว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษา เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีมติยืนยันเช่นเดียวกันว่าผู้ถูกฟ้องคดี ได้แบ่งแยกและโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว ในส่วนนี้ คตง.และ สตง. ก็จงใจปิดบังไม่ให้ข้อเท็จจริงแก่สื่อมวลชนและประชาชน

ข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของ บมจ.ปตท. โดย สตง. รับรองแบบไม่มีเงื่อนไขมาโดยตลอด ทั้งที่ สตง. เองเป็นผู้ทักท้วงมาโดยตลอด บมจ.ปตท.โอนทรัพย์สินไม่ครบ เท่ากับว่า สตง.ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อ ตลท. และผู้ถือหุ้นของ บมจ.ปตท. ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงและต้องมีผู้รับผิดชอบ

วันที่ 10 สิงหาคม 2553 ครม. ได้มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน

วันที่ 14 สิงหาคม 2557 สตง. ได้มีหนังสือรายงานถึงหัวหน้า คสช. ว่า สตง. เห็นว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน ซึ่ง คสช. มีคำสั่งให้ คตง.หารือสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกาขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของกฤษฎีกา

ในประเด็นนี้จึงไม่มีเหตุผลใดที่ คตง. และ สตง. จะบอกว่าการโอนทรัพย์สินไม่ครบเพราะศาลปกครอง ได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่าครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดย่อมถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว

ประเด็นที่ 2 เรื่องการละเว้นไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2550 และรายงานข้อมูลอันเป็นเท็จ

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ กับ บมจ.ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษาและมติ ครม. กรมธนารักษ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการตรวจสอบและแบ่งแยกทรัพย์สินและเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คณะกรรมการได้รายงานให้กรมธนารักษ์ทราบและขอความเห็นชอบจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้รายงานให้ ครม. รับทราบ รายงานศาลปกครอง เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามคำพิพากษาหรือไม่ และรายงาน สตง. เพื่อตรวจสอบตามมติ ครม. จึงเป็นแนวทางปฏิบัติราชการปกติทั่วไป ครม. มิได้มีมติให้ สตง. ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องก่อน แล้วจึงให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รายงาน ครม. หรือศาลปกครองแต่อย่างใด

การดำเนินการของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และ บมจ.ปตท. จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ครม.มอบหมาย และมิได้มีการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จแต่ประการใด

รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อกล่าวหาของ คตง. และ สตง. ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากซึ่งเหตุและผลทุกประการ มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่สำคัญที่ สตง. ได้ทำความเห็นไปยังศาลปกครองและศาลปกครองได้ตอบยืนยันเป็นทางการแล้วว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง คตง. และ สตง. ก็รู้ว่าที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดแล้วว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว การที่ คตง.และ สตง. ยังเห็นว่าไม่ครบจึงเท่ากับเป็นการดูหมิ่นศาลปกครอง อีกทั้งยังปกปิดความผิดของตัวเองที่รับรองงบการเงินของ บมจ.ปตท. ที่ผ่านมาอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งที่ สตง. เป็นผู้ทักท้วงว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน รวมทั้งละเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. ที่ให้หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่มีปัญหา โดยได้ข้อยุติต่อไป แต่กรณีนี้ คตง.และ สตง. หารือคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกายังไม่เป็นที่ยุติ คตง. กับ สตง.กลับมาสรุปเองว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน และใช้อำนาจกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และรายงานเท็จ พฤติกรรมของ คตง.และ สตง. ดังกล่าวเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเป็นอย่างยิ่ง

"จึงเรียนชี้แจงกรณีดังกล่าวเพื่อสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ได้รับความข้อเท็จจริงที่เป็นจริง และเบื้องหลังที่ควรทราบเกี่ยวกับ คตง.และ สตง." รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในตอนท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม