นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินตามนโยบายรักษาทุกที่ดีทุกสิทธิ์ (EMCO) ว่า ตามหลักการแล้ว เมื่อประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ ที่มีความพร้อม เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ได้พัฒนาและออกแบบให้ประชาชนคนไทยที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใน 3 กองทุน คือ ระบบหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และข้าราชการ ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้ ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ ซึ่งรวมถึง โรงพยาบาลเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นระบบสามกองทุนจะตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองและจากสภาพโรงพยาบาลเอกชนที่เพิ่มจำนวนและกระจายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จะ ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบริการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า ระบบ EMCO เริ่มจากการบุกเบิกของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช. ) ตามนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ เมษายน พ.ศ.2555 โดย สปสช. จะเป็นคนกลางตามจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเอกชน แล้วค่อยรับเงินคืนจากกองทุนอื่นๆ ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลตามสิทธิ์ดังกล่าวมากกว่า 70,000 คน และจากผลสำรวจพบว่ามีความพึงพอใจสูง แต่ยังมีปัญหาที่สำคัญคือการเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากผู้ป่วยหรือญาติด้วยเหตุผลหลายประการจนเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องและยื่นเรื่องทวงถามไปยังรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนและปรับระบบให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขและ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ในฐานะคนกลางจึงได้ร่วมมือกับนักวิชาการด้านระบบค่ารักษาพยาบาล ออกแบบการคิดค่ารักษาพยาบาล และทำข้อเสนอเงื่อนไขต่าง ๆ พร้อมจัดประชุมร่วมกันกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และทั้ง 3 กองทุน อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยฉุกเฉินและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยได้ข้อสรุป ดังนี้ 1. จะร่วมมือดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามระบบ EMCO ของโรงพยาบาลเอกชน โดยไม่คิดค่ารักษากับผู้ป่วย แต่จะมาเบิกคืนจากกองทุนต่าง ๆ โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานที่กำหนดอาการฉุกเฉินวิกฤต
2.การรักษาอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จะคิดค่ารักษาแบบทุกรายการแทนการเหมาจ่ายแบบเดิม ใน 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นเป็นเรื่องที่แต่ละกองทุนกับโรงพยาบาลเอกชนจะตกลงกันเอง3.จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ์ เมื่อพ้นวิกฤต หรืออยู่จนครบ 72 ชั่วโมงอย่างมีประสิทธิภาพ
4.สพฉ ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดการอบรมการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้แพทย์ พยาบาลห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน สามารถคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามเกณฑ์ที่ สพฉ.กำหนด รวมทั้งจัดเตรียมศูนย์ประสานงานเพื่อให้แพทย์เวรประจำศูนย์ประสานงาน สามารถช่วยการตัดสินเรื่องฉุกเฉินวิกฤต ในกรณีที่แพทย์ พยาบาลหน้างานไม่แน่ใจ 5. เมื่อทุกฝ่ายยอมรับกับเงื่อนไขต่างๆ สพฉ. จะเสนอให้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินออกเป็นประกาศให้ทราบโดยทั่วกันและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป และ 6.เตรียมตั้งกรรมการติดตาม และปรับปรุงระบบEMCO เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของระบบต่อไป
"การเตรียมการทั้งหมดนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่จะได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้และมีความพร้อมทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินปลอดภัย ลดการสูญเสีย โดยมิได้มุ่งจะเข้าแต่โรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงและอยู่ไกลออกไป ขอย้ำกับประชาชนให้เห็นความสำคัญ และความจำเป็นของระบบนี้ ส่วนผู้ป่วยทั่วไปหรือผู้ป่วยฉุกเฉินอื่น ๆ ขอให้ใช้ระบบบริการตามสิทธิ์ประกันเดิมต่อไป อย่างไรก็ตามทางที่ดี และคิดว่ามีอาการเข้าข่ายฉุกเฉิน ควรโทรแจ้งที่สายด่วน 1669 เพื่อให้ได้รับการประเมินอาการ และเข้ารับการรักษาตามระบบ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันปัญหาการถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลด้วย" เลขาธิการ สพฉ. กล่าว.
อย่างไรก็ตามนอกจากผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ปกติ จะได้รับสิทธิ์ตามนโยบาย EMCO แล้ว ในพื้นที่พิเศษ ที่ห่างไกล อาทิ พื้นที่เกาะ ภูเขา หรือพื้นที่ธุรกันดาร ที่รถพยาบาลเข้าถึงลำบาก ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการเคลื่อนย้ายผ่านเรือกู้ชีพ หรืออากาศยาน ก็ได้รับสิทธิ์เช่นกัน โดยหากแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 จะได้รับการบริการฟรีทุกกรณีตามเกณฑ์ที่ สพฉ. กำหนด ดังนั้นขอให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมั่นใจว่าไม่ว่าจะอยู่บนพื้นที่ใดในประเทศไทย ก็จะได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และได้มาตรฐาน