นายชุมพล โชคพงษ์อุดมชัย รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 4) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ.เปิดเผยว่า หลายพื้นที่รับผิดชอบของ กปภ.ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ยืดเยื้อ ยาวนานและรุนแรง ส่งผลให้เกิดน้ำทะเลหนุนสูงแหล่งน้ำดิบที่ กปภ.ใช้ผลิตน้ำประปาในขณะนี้ ได้แก่ กปภ.สาขาฉะเชิงเทรา บางปะกง บางคล้า และปราจีนบุรี ทำให้ค่าความเค็มหรือค่าคลอไรด์ในน้ำดิบสูง ซึ่ง กปภ.ใช้มาตรฐานเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด คือให้มีค่าคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/l) หากเกินกว่านี้น้ำจะมีรสกร่อยและอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพสำหรับเด็กอ่อนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน หรือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ และโรคไต ซึ่งแพทย์ให้ควบคุมอาหารรสเค็ม แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรงจะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม กปภ.ได้เร่งแก้ไขปัญหาโดยบูรณาการความร่วมมือและประสานข้อมูลกับกรมชลประทาน เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกงอยู่ตลอดเวลา โดยการขอระบายน้ำจากเขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฯลฯ เป็นระยะๆ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเจือจางน้ำเค็มให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ กปภ. ยังมีมาตรการรองรับโดยการผันน้ำจากสาขาใกล้เคียงเข้าไปช่วยเหลือแจกจ่ายให้กับประชาชน รวมถึงการพิจารณาซื้อน้ำดิบจากบริษัทเอกชนเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา เพื่อลดความเข้มข้นของเกลือโซเดียมคลอไรด์ที่อยู่ในน้ำดิบ ทั้งนี้ ช่วงที่น้ำประปามีรสกร่อยหรือเค็มนั้นยังคงมีความสะอาดและปราศจากเชื้อโรค ซึ่ง กปภ.สาขาจะมีการตรวจสอบปริมาณคลอไรด์ในน้ำดิบ และน้ำประปาก่อนทำการสูบจ่ายแก่ประชาชนเป็นประจำทุกวัน
นายชุมพล โชคพงษ์อุดมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ใช้น้ำในพื้นที่จำหน่ายน้ำของ กปภ.ที่ ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการน้ำประปาไม่ว่ากรณีใด ๆ หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ PWA Call Center โทร. ๑๖๖๒