พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีประธานเป็น พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) การจัดทำแผนปฏิบัติการ และมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรี และการจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหา การค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก (ศสด.)" เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน ผลักดัน เร่งรัด ติดตาม เฝ้าระวัง รวบรวมข้อมูล และรายงานผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในปัจจุบันของประเทศไทยที่ยังถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม Tier ๓ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๘ ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่า ประเทศไทยยังไม่มีการดำเนินงานที่เพียงพอในการคัดแยกและให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหาค้ามนุษย์ นั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จึงได้กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการคุ้มครองเด็ก สตรี จากการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๙เป็นจำนวน ๔ ครั้ง โดยมีพนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมในแต่ละครั้งๆ ละ ๑๙๐ คน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๗๖๐ คน ซึ่งการประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ ๒ ที่จะเป็นเวทีที่เปิดพื้นที่ให้พนักงานสอบสวนและทีมสหวิชาชีพได้มีโอกาสปรับฐานความคิด ระบบการทำงานด้านการคุ้มครองสตรีและเด็กจากการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีความละเอียดอ่อนและเข้าใจผู้เสียหายที่เป็นสตรีและเด็ก รวมทั้งทำให้เกิดการประสานงานการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ ภายใต้การบรรยายเชิงวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ๒๕๕๘ ของสหรัฐอเมริกา การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อีกทั้งการแบ่งกลุ่มระดมความคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานแบบบูรณาการของทีมสหวิชาชีพ ทั้งนี้ ย่อมส่งผลให้การขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย มีประสิทธิภาพและบังเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการคัดแยกและคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่รุนแรงลดน้อยลง และอยู่ในระดับที่ดีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน