ไปรษณีย์ไทย เปิด “แสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ” ชวนสนุกฉุกฉัก...หัวลำโพง ต้อนรับเปิดเทอม

พุธ ๐๑ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๓:๕๕
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดตัวนิทรรศการ "แสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ" ภายใต้แนวคิดหลัก สนุก ฉุกฉัก ฉุกฉัก หัวลำโพง เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 100 ปี สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ จำลองบรรยากาศสถานีหัวลำโพงย้อนยุค ขบวนรถไฟ และวิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อน พร้อมโชว์แสตมป์รถไฟนานาชาติ และกิจกรรมร่วมสนุกได้ความรู้สำหรับเยาวชน อาทิ แรลลี่ย้อนอดีต เวิร์กช้อป ต่อโมเดลรถไฟ จำหน่ายแสตมป์ สิ่งสะสม และสินค้าที่ระลึกสุดชิคที่จัดทำขึ้นเฉพาะนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ

นางปริษา ปานะนนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการตลาด ปณท กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการฉลองครบรอบ 100 ปีสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ สถานีหัวลำโพง นอกเหนือจากการจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกในวาระดังกล่าว กำหนดวันแรกจำหน่าย 25 มิถุนายนที่จะถึง ตรงกับวันครบรอบ 100 ปี สถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งถือเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย มีความสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และการคมนาคมขนส่ง

ไปรษณีย์ไทยได้เนรมิตบรรยากาศสถานีรถไฟหัวลำโพงในอดีต ผ่านการจำลองขบวนรถไฟ ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อน และจัดนิทรรศการให้ความรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ให้น้อง ๆ เยาวชน ต้อนรับการเปิดภาคเรียนใหม่ ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ นอกจากความรู้เรื่องรถไฟแล้ว ยังมีการจัดแสดงแสตมป์ชุดรถไฟของนานาประเทศอีกด้วย

หัวข้อที่น่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้ ประกอบด้วย

· หัวลำโพงมีชีวิต เรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่ก่อนการกำเนิดรถไฟในประเทศไทย และสถาปัตยกรรมล้ำสมัย ที่สร้างมานานกว่าศตวรรษ ผ่านหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ "ก่อนรถไฟมา" "กำเนิดหัวลำโพง" "วัวคึกคัก รถไฟฉึกฉัก" และ "สถาปัตยกรรมล้ำสมัย ไฉไลมากว่า 100 ปี"

· เกร็ดน่ารู้คู่รถไฟ เกร็ดความรู้และเรื่องเล่าต่าง ๆ เกี่ยวกับหัวลำโพง อาทิ "หลุมหลบภัยใต้หัวลำโพง" "100 ปีมีกี่คน" "รู้ยัง ตู้รถไฟไม่ใช่ โบกี้" "ชานชาลาหรือชานชรา?" "หัวรถจักรผี?" และ "แจวเรือหน้าหัวลำโพง"

· ชีวิตคน+รถไฟ = สถานีรถไฟหัวลำโพง เรื่องเล่าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อสวมบทเป็นมนุษย์ที่มีอายุครบร้อยปี สัมผัสความทรงจำของผู้คนหลากหลาย และภาพสะท้อนวิวัฒนาการความเคลื่อนไหวของสังคม เทคโนโลยี และการคมนาคมสื่อสารตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

· ไปรษณีย์ขี่รถไฟ วิวัฒนาการด้านการขนส่งไปรษณีย์เมื่อครั้งต้องอาศัยเส้นทางรถไฟในการลำเลียงขนส่ง กว่าจะพัฒนามาเป็นเทคโนโลยีระบบการขนส่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของรถไฟ และสถานีรถไฟทั้งในไทยและต่างประเทศตั้งแต่รถจักรไอน้ำ ไปจนถึงรถไฟหัวกระสุน หรือรถไฟความเร็วสูง พร้อมจัดแสดงแสตมป์ชุดรถไฟจากนานาชาติกว่า 20 ประเทศ รวมหลายร้อยดวง ให้ได้ชมกันอย่างจุใจ โดยเนื้อหาทั้งหมดมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

สำหรับตราไปรษณียากรที่ระลึก "100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพ" มีด้วยกัน 4 ดวง เป็นภาพของสถานีหัวลำโพงในห้วงเวลาสำคัญ ๆ ตั้งแต่ยุคแรกสมัยรัชกาลที่ 6 ยุคถัดมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนอีกสองดวงเป็นภาพถ่ายมุมสูงและทัศนียภาพยามค่ำคืนในยุคปัจจุบัน แสตมป์ชนิดราคา 3 บาท ชุดละ 4 ดวง 12 บาท ซองวันแรกจำหน่าย 23 บาท และแผ่นชีทที่ระลึกคละแบบ 4 ดวง แผ่นละ 25 บาท หาซื้อได้ที่ไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ 25 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป นางปริษา กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2559 ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ด้านหลังไปรษณีย์สามเสนในติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย ในวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 08.30 - 16.00 น. (ปิดจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สอบถามเพิ่มเติมโทร 0 2271 2439, 0 2831 3722, 0 2831 3810 หรือเฟซบุ๊ก Thai Stamp Museum และไลน์ stampinlove

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ