"ประเพณีลอยเรือสำเภาจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ และสะเดาเคราะห์ เนื่องจากมีช่วงหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคระบาด" นายมาโนช ประสานสมบัติ กรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่เรียกว่ากงถ้าว คนไทยเชื้อสายจีนไหหลำรุ่นที่ ๓ เล่าถึงความเป็นมาของประเพณีลอยเรือสำเภา
สำหรับประเพณีลอยเรือสำเภาจำลองจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน ๖ ของทุกปี แต่ก่อนจะถึงวันทำพิธี ต้องมีการต่อเรือสำเภาจำลองเสียก่อน โดยย้อนไป ๑ วัน คือ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ คนไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่ ๒ และ ๓ ได้ถ่ายทอดวิชาในการต่อเรือให้กับรุ่นที่ ๓ ซึ่งยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น
"นับว่าโชคดีมากที่เด็กยุคใหม่เห็นคุณค่าของประเพณีนี้ เต็มใจรับช่วง สืบทอดประเพณีลอยเรือสำเภา ไม่อย่างนั้นประเพณีเก่าแก่นี้คงสูญหายไป เพราะที่นี่มีคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำประมาณ ๒๐ หลังคาเรือนเท่านั้น" นายมาโนชกล่าว
การต่อเรือสำเภาในปีนี้จึงเป็นความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนหลายวัย เริ่มตั้งแต่การหาไม้ไผ่สีสุก ๙ ปล้องในหมู่บ้าน โดยต้องจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ทำพิธีขอไม้ก่อนลงมือตัด จากนั้นนำมาผ่าให้ได้ ๙ ซี่ ทำกงเรือ เสากระโดงเรือ เชื่อม ผูก ตรึงให้แข็งแรง ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้เรือสำเภาลำใหญ่และสวยงามกว่าทุกปี
หลังจากต่อเรือเสร็จก็ช่วยกันหุ้มเรือด้วยกระดาษ พร้อมตกแต่งด้วยธงและกระดาษหลากสี ปิดท้ายด้วยการทำตาเรือและหางเสือ เป็นอันได้เรือสำเภาจำลองสมบูรณ์แบบ
เหล่าวัยรุ่นแยกตัวไปทำแพสำหรับรองรับลำเรือ ตั้งแต่การตัดต้นกล้วยมาทับซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น เชื่อมติดกันด้วยไม้ไผ่ที่เหลาเตรียมไว้ เสร็จแล้วทดสอบน้ำหนักบนสายน้ำ เมื่อไม่มั่นใจก็ต้องตัดต้นกล้วยมาต่อเพิ่ม เสร็จแล้วผูกแพไว้กับฝั่ง รอวันทำพิธี
เสียงตีผ่าง ๆ (ลักษณะคล้ายฆ้อง) ในช่วงเย็นของวันที่ ๑๕ พฤษภาคม เป็นสัญญาณให้รู้ว่าถึงเวลาเข้าร่วมพิธี คนในหมู่บ้านต่างหิ้วข้าวสาร หอม กระเทียม พริกแห้ง เกลือ นำมาใส่ในเรือสำเภา เพื่อเป็นเสบียงอาหาร เหมือนเรือจริงที่จะออกเดินทะเล บางคนก็ใส่เหรียญสตางค์ลงไปด้วย จากนั้นเป็นการเริ่มพิธีกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การไหว้เจ้าแม่ทับทิม เทพธิดาแห่งท้องทะเล และเจ้าพ่อปุนเถ่ากง ไหว้บรรพบุรุษ เผากระดาษเงินกระดาษทองให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ตามมาด้วยการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและโรคภัยไข้เจ็บตามความเชื่อ
มาถึงนาทีสำคัญ คือ การเสี่ยงทายเพื่อนำเรือสำเภาลงสู่ลำน้ำน่าน โดยผู้อาวุโสเป็นผู้ทอดเบี้ย เบี้ยที่ว่านี้ทำจากส่วนหนึ่งของไม่ไผ่ที่เรียกว่าตาไม้ แล้วนำมาทาสีแดง การทอดเบี้ยต้องให้ออกครบ ๓ แบบ คือ หัว (หัว-หัว) ก้อย (ก้อย-ก้อย) และ กลาง (หัว-ก้อย) ปีนี้ใช้เวลาทอดถึง ๓ ครั้ง เป็นอันว่าได้เวลาแห่เรือสำเภามุ่งไปยังท่าน้ำ เด็กหนุ่มเชื้อสายจีนไหหลำรุ่น ๓ รวมถึงหนุ่มไทยร่วมกันแห่เรือ ตีผ่าง ผ่าง จุดเทียนนำทาง เมื่อถึงริมน้ำตัวแทนทำพิธีไหว้ แล้วปล่อยเรือลงสู่ลำน้ำน่าน ปิดท้ายด้วยการจุดประทัด นับเป็นภาพที่บ่งบอกถึงพลังศรัทธา ความสมัครสมาน สามัคคี และสายสัมพันธ์ของคนใหมู่บ้าน
เมื่อกลับขึ้นมาบนฝั่ง บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม หมู ไก่ ผลไม้ ขนม ที่ใช้ไหว้เจ้าก่อนหน้านี้ ถูกนำมาสับ จัดเรียง ใส่จาน เสริฟพร้อมข้าวต้มร้อน ๆ ให้กับผู้มาร่วมงานรับประทานร่วมกัน แถมยังห่อกลับบ้านได้อีก ด้วยชาวจีนไหหลำเตรียมไว้จำนวนมาก ตามคติความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ก่อนกลับไม่ลืมหยิบขัน ชวด กระป๋องที่นำมาจากบ้านเพื่อรองรับน้ำมนต์กลับไปด้วย
ในฐานะลูกหลานคนไทยในหมู่บ้านวังส้มซ่าแห่งนี้ ประเพณีลอยเรือสำเภาคือศูนย์รวมแห่งความเชื่อ ความศรัทธา สิริมงคล การร่วมแรงร่วมใจ ความอบอุ่น ความสนุกสนาน และสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของคนในหมู่บ้าน ทั้งคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำและคนไทยแท้
นี่คือสัญลักษณ์แห่งความรัก ความผูกพันของชาวบ้านหมู่ ๑ บ้านวังส้มซ่า ที่อย่างน้อย ๆ ได้แสดงพลานุภาพในช่วงเดือน ๖ ของทุกปี ผ่านประเพณีอันเก่าแก่...ประเพณีลอยเรือสำเภา