นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการประมาณการไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ 4 ชนิด ปี 2559 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2559 ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ พบว่า
เงาะ เนื้อที่ให้ผล จำนวน 37,085 ไร่ ลดลง จากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4 ผลผลิตจำนวน 12,813 ตัน ลดลงลงร้อยละ 10 และผลผลิตต่อไร่ 346 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 7 โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงสิงหาคม ถึง กันยายน
มังคุด เนื้อที่ให้ผล จำนวน 34,703 ไร่ ลดลงร้อยละ 2 ผลผลิตจำนวน 13,018 ตัน ลดลงร้อยละ 7 และผลผลิตต่อไร่ 375 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 6 โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงสิงหาคม ถึง กันยายน
ทุเรียน เนื้อที่ให้ผล จำนวน 97,852 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 ผลผลิตจำนวน 40,278 ตัน ลดลงร้อยละ 10 และผลผลิตต่อไร่ 412 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 10 โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงกรกฎาคม ถึง สิงหาคม
มังคุด เนื้อที่ให้ผล จำนวน 34,703 ไร่ ลดลงร้อยละ 2 ผลผลิตจำนวน 13,018 ตัน ลดลงร้อยละ 7 และผลผลิตต่อไร่ 375 กิโลกรัม ลดลง ร้อยละ 6 โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงสิงหาคม ถึง กันยายน
ลองกอง เนื้อที่ให้ผล จำนวน 130,925 ไร่ ลดลงร้อยละ 3 ผลผลิตจำนวน 31,015 ตัน ลดลงร้อยละ 7 และผลผลิตต่อไร่ 237 กิโลกรัม ลดลงร้อยละ 4 โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงสิงหาคม ถึง ตุลาคม
นายพลเชษฐ์ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ไม้ผลของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง อันเป็นผลมาจากฝนทิ้งช่วงนานและกระทบแล้ง ส่งผลให้เงาะ มังคุด และลองกอง ออกดอกไม่มาก ต้องรอฝน โดยในส่วนที่ออกดอก ติดผลแล้ว ผลผลิตที่ได้คุณภาพไม่ดีนัก เนื่องจากสภาพต้นไม่สมบูรณ์ มีน้ำเลี้ยงไม่พอ ในขณะที่ทุเรียน แม้จะออกดอกมากกว่า ไม้ผลชนิดอื่น แต่พบว่าดอกเริ่มเหี่ยวคาต้นเนื่องฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่ต้นปี
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ หากสภาพอากาศยังแล้งจัด ยังไม่มีฝน อาจส่งผลให้ไม้ผลที่ออกดอกแล้วเหี่ยวคาต้นเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่ไม้ผลในส่วน ที่ยังไม่ออกดอกยังรอน้ำอยู่ อาจจะไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย ส่งผลให้ผลผลิตลดลงได้อีก ทั้งนี้ คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้จะได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อประมาณการไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในปลายเดือนมิถุนายนนี้