รศ.ดร.ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวถึง โครงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ต้นแบบการสอนระดับมหาวิทยาลัย "Professional Development Training Course in University Pedagogy" ซึ่ง มทร.ธัญบุรี จัดขึ้นเพื่อขยายผลการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู กับ Finland University เพื่อให้คณาจารย์ได้นำความรู้มาพัฒนาการจัดการศึกษาตามยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย RMUTT's Smart Teacher Model ของมหาวิทยาลัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาอาจารย์มืออาชีพ
"หลายสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยเอง รวมถึง มทร.ธัญบุรี เองได้ตระหนักและเห็นภาพความสำเร็จการจัดการศึกษาของฟินแลนด์ ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นและได้รับการยอมรับในระดับโลก จึงต้องการที่จะพัฒนาการศึกษาโดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ผู้สอน ด้วยการร่วมเรียนรู้จากต่างประเทศ จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญพิเศษในด้านการอบรมให้ความรู้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นสูงจากประเทศฟินแลนด์มาเป็นวิทยากรแก่คณาจารย์ ณ มทร.ธัญบุรี รวมถึงส่งอาจารย์ไปฝึกอบรมที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การพัฒนาศักยภาพของตนเองเท่านั้น แต่ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องกลับมาเป็นต้นแบบเพื่อส่งต่อความรู้ให้กับอาจารย์ท่านอื่น ๆ ต่อไป" รศ.ดร.ณฐา กล่าว
ดร.นครินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า ตนมีคำถามเป็นแรงผลักสำคัญในการเข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับฟินแลนด์ ว่าทำไมถึงมีระบบการศึกษาดีที่สุดระดับโลก ในโครงการช่วยให้ได้คำตอบโดยเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ว่า การเรียนเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำกิจกรรมกลุ่ม ทำให้เห็นภาพการศึกษาไทยและเข้าใจนักศึกษามากยิ่งขึ้น ความรู้ที่ได้รับครั้งนี้สามารถนำมาใช้ประกอบการสอนได้อย่างมีทิศทางและสร้างความมั่นใจในการเป็นอาจารย์ต้นแบบของการสอนระดับมหาวิทยาลัยต่อไป
เช่นเดียวกับ อาจารย์ปาริฉัตร พยุงศรี จากคณะศิลปศาสตร์ ให้ความเห็นว่า "โลกเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา อาจารย์ในฐานะผู้ให้ความรู้ จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีความรอบรู้ เพื่อที่จะส่งต่อความรู้ให้กับลูกศิษย์ของเราได้อย่างเต็มที่ โครงการนี้ช่วยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของเราด้วยระบบการศึกษาที่ได้รับการยอมรับว่าดีเยี่ยมติดอันดับโลก จึงทำให้เราเรียนรู้ต้นแบบการศึกษาที่ดี เหมือนเป็นทางลัดให้เราพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน นำมาปรับให้เหมาะสมและสอดคล้องกับผู้เรียนของเรา นอกจากจะได้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบมืออาชีพแล้ว ยังได้ฝึกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษไปตัว ถือว่าโชคดีมากจริง ๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้"
ดร.รุ่งนภา ศรานุชิต อาจารย์วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย เล่าความรู้สึกจากการเข้าร่วมโครงการว่า ได้ความรู้ภาคทฤษฎีและหลักการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องทำให้สอดคล้องกันทั้งการตั้งวัตถุประสงค์การเรียนรู้ การเลือกใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลที่สะท้อนตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และได้ความรู้ในภาคปฏิบัติด้านเทคนิคการสอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสอนที่ส่งเสริมการเรียนแบบ Active Learning ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนเพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม กระตุ้นการเรียนรู้และก่อเกิดบรรยากาศที่ดีระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ที่สำคัญยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างอาจารย์ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์จากหลายคณะ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการสอนที่หลากหลายและได้แนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน
ปิดท้ายที่ อาจารย์สิปปวิชญ์ กำบัง จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ไม่ปรับตัวจะล้าหลังและก้าวไม่ทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อาชีพของอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน ต้องปรับและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้สร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคนิคการสอนใหม่ ๆ และทำให้เกิดกลุ่มสังคมอาจารย์ที่มีสิ่งสนใจเหมือนกัน คือการพัฒนาตนเองอย่างมืออาชีพ และตั้งใจจะนำเทคนิคการสอนที่หลากหลายไปใช้ในจริงในเทอมถัดไป เพราะก่อนนี้เคยใช้ลักษณะการสอนเช่นนี้แล้ว นักศึกษาให้ความสนใจเรียนมากขึ้นและเชื่อมั่นว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะดีขึ้น
"เราจะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนของประเทศไทยไปไกลเทียบเท่ากับฟินแลนด์" โครงการปั้นอาจารย์อย่างมืออาชีพ ของ มทร.ธัญบุรี ในครั้งนี้ คงเป็นคำตอบสำคัญข้อหนึ่งและนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาต่อไป ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวหรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในรุ่นต่อไปได้ที่http://www.isd.rmutt.ac.th