เชิญชวนเยาวชนประกวดนวัตกรรมสีเขียวรุ่นเยาว์ ประจำปี 2559

พุธ ๐๘ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๖:๐๘
ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระทรวงศึกษาธิการ กำลังดำเนินการประสานพลังประชารัฐ โดยมีมูลนิธิโรงเรียนวิทยาศาสตร์ระยอง ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่ม ปตท. จัดโครงการประกวดนวัตกรรมสีเขียวรุ่นเยาว์ ประจำปี 2559 (Youth Greenovation Award 2016) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวคิด "ปลูกนวัตกรรม ปั้นนวัตกิจ ปลุกจิตสำนึกสีเขียว" ในโจทย์หัวข้อ "นวัตกรรมสีเขียวเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. ปวท.) หรือเทียบเท่า ได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ โดยประดิษฐ์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสต่อยอดไปสู่สินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ทั้งในรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจเพื่อสังคม

ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้สืบเนื่องมาจากข้อดำริของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 29มีนาคม 2559 ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดแนวทางในการบ่มเพาะและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทั้งที่ประดิษฐ์คิดค้นโดยเยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงการแปลงนวัตกรรมให้เป็นสินค้าออกสู่ท้องตลาด โดยใช้กลไกประชารัฐที่มีภาคเอกชนมาร่วมดำเนินการ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ? นั้นมีหลายหน่วยงานภายในสังกัดที่ดำเนินการภารกิจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัย และในปีนี้ได้ปักธงในการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดที่เรียกว่า กลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาบวกกับเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ขายได้และเติบโตได้ในตลาดปัจจุบัน

"การฝึกฝนทักษะการคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย หากรอจนเป็นผู้ใหญ่อาจช้าไป ต้องยอมรับว่าการศึกษาในระบบปัจจุบันเป็นแบบที่ใช้รูปแบบเดียวกันกับคนหมู่มาก ทำให้เยาวชนเหมือนถูกฝึกให้ทำอะไรเหมือนกัน บางชั้นเรียนมีครูหนึ่งคนต่อนักเรียน 50 คน ซึ่งการจัดการศึกษาแบบกลุ่มใหญ่ทำให้เยาวชนของเราต้องทำคล้ายๆ กัน ดังนั้น การเปิดเวทีทางความคิดให้เขาได้กล้าที่จะคิดต่าง โดยทำงานกับกลุ่มเล็กๆ และได้รับคำปรึกษาจากคุณครูแบบเฉพาะตามที่เขาสงสัย จะช่วยเปิดเวทีความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เยาวชนของเรายังไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับแนวคิดทางธุรกิจตั้งแต่เล็ก ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้กับความต้องการของมนุษย์ได้ ซึ่งกลไกการปลูกฝังแนวคิดทางธุรกิจจะเป็นสะพานสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสู่ผู้ใช้ผ่านกลไกการตลาดและธุรกิจ ซึ่งจะมีความจำเป็นมากสำหรับโลกอนาคต" ดร.วรวรงค์ กล่าว

โครงการประกวดนวัตกรรมสีเขียวรุ่นเยาว์ ประจำปี 2559 เปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. ปวท.) หรือเทียบเท่า ทั่วประเทศ โดยรวมทีมที่ประกอบด้วยสมาชิก 1-4 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน 1 ท่าน ส่งผลงานแนวคิด กระบวนการ หรือสิ่งประดิษฐ์ ที่ผสมผสานความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยเริ่มสามารถดูรายละเอียด ลงทะเบียนและส่งผลงานผ่านระบบออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 30มิถุนายน 2559 ทางเว็ปไซต์ www.yga2016.com และเฟสบุ๊ค www.facebook.com/youthgreenovationaward/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 088-490-9448 Line ID: catswong

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ