การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559

ศุกร์ ๑๐ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๔:๐๓
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯ และมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัท ซี เอ ซี จำกัด (ซีอาเซียน) เป็นต้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2559 ณ อาคาร CyberWorld Tower ซีอาเซียน

เนื่องจากคณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีพันธกิจเพื่อแก้ไขปัญหาวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพใน 4 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่ 1) การส่งเสริมให้วิสาหกิจเริ่มต้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มมากขึ้น 2) การสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นให้มีความพร้อมในการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ 3) การส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเป็นเจ้าของกิจการ (Entrepreneurship) และ 4) การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น

ดังนั้น การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมจึงได้พิจารณาเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559 – 2564) ซึ่งดำเนินการโดยคณะทำงานย่อย 4 คณะที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 ดังนี้

1. การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 1) (หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์)

วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นตามพันธกิจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ

ความคืบหน้าของการดำเนินงาน : คณะทำงานชุดที่ 1 ได้ชี้แจงแผนการจัดงานประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับ Startup การจัดประกวดการนำเสนอแผนธุรกิจเพื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Pitching) และการจัดงาน Event เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดของธุรกิจ Startup ซึ่งมีภาคเอกชนนำโดย ซีอาเซียน บริษัท Techsauce Media จำกัด (Techsauce) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ นำโดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมประชาสัมพันธ์ โดยจะดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อจัดงาน Event และจัดประกวด ตลอดทั้งปี 2559

ในส่วนของการสร้างให้เกิดศูนย์กลางแห่งการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ (Knowledge Center) สำหรับ Startup หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมจัดทำสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ และนำไปเชื่อมต่อช่องประชาสัมพันธ์เครือข่าย Startup ที่มีประสิทธิภาพ และเวทีการประชาสัมพันธ์ธุรกิจสำหรับ Startup รุ่นใหม่ โดย ตลท. ได้ดำเนินการสร้าง Web Portal สำหรับ Startup "New Economic Warrior" (www.NEW.set.or.th) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่าย เสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ Startup พร้อมนี้ Techsauce ยังได้ร่วมมือกับสมาคมและสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์ในการจัดทำหลักสูตรพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในวงการสื่อมวลชนด้านเทคโนโลยีอีกด้วย

2. การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 2) (หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

วัตถุประสงค์ : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ตามพันธกิจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ

ความคืบหน้าของการดำเนินงาน : คณะทำงานชุดที่ 2 ได้ชี้แจงแผนการพัฒนาแนวทางปรับปรุงกฎหมายธุรกิจการพัฒนาระบบบัญชีของวิสาหกิจเริ่มต้น และกำหนดคุณสมบัติของ Qualified Investor และ Qualified Startup โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานอื่น ๆ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ตลอดจนที่ปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี ร่วมศึกษาแนวทางปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการบัญชี ด้านกฎหมายธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการที่ครบวงจรของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ตลท. สนช. สวทน. สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ ยังได้วางแนวทางการพัฒนา Web Portal และระบบ E-learning โดย ตลท.ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนา Web Portal ขึ้น (NEW.set.or.th) ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสื่อออนไลน์สำหรับระบบ E-learning เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นต่อไป

นอกจากนี้ สนช. สวทน. สวทช. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงาน ก.ล.ต. และที่ปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี ยังได้ร่วมศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup district)

ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการย่านนวัตกรรม (Innovation district) และโครงการ University-based startup district เป็นต้น

3. การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 3) (หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

วัตถุประสงค์ : ส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น ตามพันธกิจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ

ความคืบหน้าของการดำเนินงาน : คณะทำงานชุดที่ 3 ได้ชี้แจงแนวทางการให้ความรู้ในเรื่องของการทำธุรกิจในโลกเศรษฐกิจใหม่ การส่งเสริมให้ Incubator บ่มเพาะ Startup เพื่อให้สามารถสร้าง prototype และสามารถหานักลงทุนในระดับ Seed ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิด Accelerator ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

พร้อมกันนี้ คณะทำงานชุดที่ 3 จะมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรโดยเบื้องต้นเน้นด้าน IT เพื่อนำ Resourceที่มีคุณภาพสู่วิสาหกิจเริ่มต้น โดยสมาคมโปรแกรมเมอร์จะเป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการสร้างบุคลากรในธุรกิจไอที และการพัฒนากลไกเสริมให้มีการรับรอง (certify) ความสามารถ และจะดำเนินการจัดตั้ง The National Incubation Subcommittee เพื่อวางแนวทางการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของ Incubator การจัด Ranking และทำ Bench mark และการพัฒนา Incubator อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คณะทำงานชุดที่ 3 ยังได้รายงานการวางแนวทางเพื่อส่งเสริมให้เกิด Accelerator ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมถึง 5 คลัสเตอร์ใหม่ที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน ซึ่งประกอบไปด้วย อาหาร ดิจิตอล สุขภาพ หุ่นยนต์ และกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยวางแนวทางการส่งเสริม Accelerator ไว้หลายรูปแบบ เพื่อให้เกิดมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

4. การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อเสนอแนะนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 4) (หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง)

วัตถุประสงค์ : ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอแนะนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ตามพันธกิจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ

ความคืบหน้าของการดำเนินงาน : คณะทำงานชุดที่ 4 ได้ชี้แจงแนวทางการออกมาตรการสนับสนุนทางด้านการเงินการคลังแก่วิสาหกิจเริ่มต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เช่น เช่น กรมสรรพากร สศค.

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และภาคเอกชน จะร่วมหารือในระดับนโยบาย เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการกำหนดมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น รวมทั้งเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการค้ำประกันสินเชื่อแก่วิสาหกิจเริ่มต้น และพิจารณาประเด็นวงเงินสำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ของ ธพว. และ บสย. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs/New Startup

คณะทำงานชุดที่ 4 ยังได้รายงานการวางแนวทางเพื่อผ่อนปรนแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานกับวิสาหกิจเริ่มต้นไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) จะศึกษาแนวทางการดำเนินการเพื่อผ่อนปรนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานกับวิสาหกิจเริ่มต้นของไทย รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานฝีมือต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนของประเทศ

สำหรับแนวทางการพัฒนาตลาดทุนให้เหมาะสมกับการพัฒนาและการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น คณะทำงานชุดที่ 4 โดย ตลท. จะรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่ได้รับจากการทำประชาพิจารณ์มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ให้เหมาะสมและสอดรับกับนโยบายสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศ

นอกจากนี้ คณะทำงานชุดที่ 4 ยังได้เตรียมการเพื่อวางแนวทางสนับสนุนให้มีการจัดเรตติ้งเทคโนโลยีและการค้ำประกันสินเชื่อเทคโนโลยี (Technology Rating & Technology Guarantee) โดย บสย. และ สวทช. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สศค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เพื่อขออนุเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดเรตติ้งเทคโนโลยีให้ประสิทธิภาพ แม่นยำ น่าเชื่อถือ และใช้ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นได้อย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะเร่งรัดและติดตามการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย(พ.ศ. 2559 – 2564) ของคณะทำงานทั้ง 4 คณะข้างต้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการนำเสนอแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (พ.ศ. 2559 – 2564) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว ซึ่งปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างเตรียมนำเรื่องดังกล่าวเพื่อบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ยังได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานโฆษกของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการแถลงข่าว เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเกี่ยวกับนโยบาย และการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ภารกิจของคณะกรรมการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และถูกต้องแก่สาธารณชน โดยองค์ประกอบของคณะทำงานโฆษกฯ ดังกล่าว จะประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทน ตลท. และผู้แทนจากซีอาเซียน

สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3635

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version