ไทยพร้อมร่วมนานาประเทศ ร่วมเวที ESCAP สมัยที่ 72 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาค

จันทร์ ๑๓ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๑:๔๒
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเวทีประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกหรือ ESCAP สมัยที่ 72 เผย ไทยพร้อมเดินหน้าร่วมนานาประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) สมัยที่ 72 ในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่ง สศก. ได้ร่วมประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อติดตามผลการดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค รวมทั้งหารือถึงแนวทางสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในภูมิภาค โดยมีนายกรัฐมนตรีของประเทศฟิจิและประเทศทาจิกิสถาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายประเทศเข้าร่วม

ในการนี้ เลขาธิการ ESCAP ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goal: SDGs) ภายในปี ค.ศ. 2030 ด้วยการพัฒนาทั้งทางด้านการค้า การคลัง วิทยาศาสตร์ การลงทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่ง ESCAP มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกในการพัฒนา ซึ่งการที่การพัฒนาจะบรรลุผลสำเร็จได้ ทุกประเทศควรที่จะนำเป้าหมาย SDGs เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาประเทศ

ในส่วนของประเทศไทย ได้เสนอต่อที่ประชุมถึงแนวทางของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation: STI) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย รัฐบาลจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแก่การพัฒนา ด้วยการสนับสนุนการศึกษา การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน โดยผลงานวิจัยนั้นจะต้องนำออกเผยแพร่เพื่อประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอด ซึ่งไทยได้ดำเนินการแผนพัฒนา STI มาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน STI เป็นร้อยละ 1 ของ GDP อีกทั้งยังได้ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยมุ่งเน้นการพัฒนาประชารัฐ และให้ความสำคัญกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร (ICT) มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ดังนั้น ไทยจึงมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับนานาประเทศไม่ว่าจะในเรื่องการเกษตร การลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่อง STI เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค

ด้านนางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ภายใต้ ESCAP รวมถึงองค์กรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นสมาชิก ได้แก่ ศูนย์บรรเทาความยากจนผ่านการเกษตรยั่งยืน (CAPSA) ที่ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการเกษตร (SATNET) รวมทั้งการดำเนินงานของศูนย์การเกษตรยั่งยืนผ่านเกษตรกลวิธาน (CSAM) ที่จะมีโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องจักรกลการเกษตรประจำภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทยได้แสดงความชื่นชมต่อการทำงานของทั้งสองหน่วยงาน รวมทั้งยืนยันที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ภายในปี ค.ศ. 2030

ทั้งนี้ ESCAP เป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปี ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและแนวทางการดำเนินการต่อไป โดยประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกของ ESCAP และได้เข้าร่วมประชุมเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของภูมิภาค ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวด้านการพัฒนาของภูมิภาค เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ