นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูกาลการระบาดของโรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) โรคนี้พบได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มีฝนตกหนัก น้ำขังเฉอะแฉะเอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู จากกลุ่มระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี พบรายงานผู้ป่วยในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ในปี 2559 นี้พบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูแล้ว 130 ราย เสียชีวิต 3 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วย และเสียชีวิตมากที่สุด คือ จังหวัดศรีสะเกษ พบผู้ป่วย 85 ราย เสียชีวิต 3 ราย
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า โรคนี้มีสาเหตุมาจากหนู โดยเชื้อโรคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ในฉี่ของหนู หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย สุนัข แมว ซึ่งปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังชื้นแฉะทั่วไป เชื้อโรคไข้ฉี่หนูสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการเข้าทางบาดแผลหรือเยื่อบุอ่อนๆของร่างกาย เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า ตา ขณะที่แช่น้ำ หรือการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหารนั้นๆ มักพบติดเชื้อขณะทำนา ทำสวน ระหว่างการจับปลา หรือจับหนูในนา วิธีการป้องกันตนเองเบื้องต้นเกษตรกรควรสวมใส่รองเท้าบูทเมื่อลง แช่น้ำ และหลังเสร็จภารกิจหรือขึ้นจากน้ำให้รีบล้างมือ ล้างเท้า ด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลตามร่างกาย
ทั้งนี้ หากประชาชนเริ่มมีอาการ ไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะหลัง ต้นขาและน่อง ปวดศีรษะ ตาแดง คลื่นไส้ และปวดท้อง ให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วย เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นเช่น ไอเป็นเลือด ตัวเหลือง อาจเสียชีวิตจากไตวาย ตับวายได้ หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422/ นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย
Cr.ภาพประกอบข่าว: internet