ผศ.ดร.มนัส ไพฑูรย์เจริญลาภ หัวภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า การเรียนรู้ของนักศึกษาปกติจะเป็นการแก้ปัญหาตามโจทย์ที่อาจารย์ให้มากกว่า ทำให้เวลาออกไปทำงานภายนอกยังทำงานเกี่ยวกับการดูข้อมูล การวิเคราะห์ไม่เป็นนัก ซึ่งต้องเรียนรู้อีกมากเพราะขาดประสบการณ์จริง แต่ถ้าเป็นการทำ Workshop แบบจำลองการทำงานจริงๆ เหมือนที่ธนาคารทำ หรือที่องค์กรลูกค้าของแซสทำ แล้วมาฝึกฝนว่านักศึกษาต้องมีทักษะอะไรบ้าง ต้องเรียนรู้อะไร มีวิธีทำอย่างไร ซึ่งประสบการณ์จริงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต่อไปหากมีความร่วมมือกันในเชิงลึกมากขึ้นจะเป็นเรื่องที่ดีเป็นประโยชน์กับนักศึกษา อาทิ หากมีหน่วยงานไหน หรือมีลูกค้าของแซส สนใจต้องการให้นักศึกษาของภาควิชาสถิติเข้าไปฝึกงาน หรือช่วยงานที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งนักศึกษาและสถาบันนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ซึ่งสถาบันฯ พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่
ปัจจุบันภาควิชา มีนักศึกษาเข้ามาเรียนประมาณ 150 – 160 คนต่อปีการศึกษา และส่วนใหญ่เมื่อจบแล้วจะไปเป็นนักโปรแกรมเมอร์ ไปทำคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ และส่วนมากรุ่นพี่จะดึงตัวไป ยังไม่มีแบบว่าองค์กรเข้ามาที่สถาบันฯ โดยตรง
"ในมุมมองของอาจารย์ นักศึกษาที่เก่งทางสแตท น่าจะเป็นตำแหน่งที่หางานได้ง่ายที่สุด เพราะวิเคราะห์ข้อมูลได้ หากไปทำคอมพ์ หรือโปรแกรมเมอร์ จะเสียดายในความรู้วิชาของสแตท เพราะสแตทสามารถประยุกต์ได้มาก แต่อาจจะเป็นความไม่เข้าใจของคนส่วนใหญ่ คิดว่าสแตทไปเป็นฝ่ายสนับสนุนฝ่ายนโยบาย หรือไปอยู่เบื้องหลังทำให้ไม่น่าสนใจ แต่จริงแล้วนักสแตทที่เก่งในต่างประเทศจะได้รับผลตอบแทนที่สูง เป็นบุคคลสำคัญขององค์กรเลยทีเดียว
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันแซสได้ให้การฝึกอบรมด้านทักษะการวิเคราะห์ผ่านซอฟท์แวร์ SAS Analytics U ซึ่งได้เป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมหลายแห่งในต่างประเทศ โดยมียอดการใช้งาน SAS Analytics U เติบโตอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับประเทศไทยแซสพยายามที่จะช่วยลดช่องว่างของทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอาชีพนักวิเคราะห์ข้อมูลในตลาดนั้นเป็นที่ต้องการมาก ขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดแซสได้เข้าไปในสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง และมีการจัดทำ Workshop อบรมการใช้แซสให้กับนักศึกษา ทั้งที่ภาควิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล