นายณัฐสพรรษ กรึงไกร นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่กรมศุลกากรออกมาแถลงการณ์ว่ามีตัวแทนของผู้นำเข้าและส่งออกในการดำเนินการพิธีการศุลกากรแทนเจ้าของสินค้าหรือชิปปิ้ง บางรายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือให้คำแนะนำไม่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกว่า ในวันนี้ 3 สมาคมได้แก่สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย สมาคมตัวแทนออกของรับใบอนุญาตไทย และสมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย อยากชี้แจงให้สังคมรับทราบว่า ชิปปิ้งเป็นเพียงตัวแทนในการเดินเอกสารด้านศุลกากรให้กับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกเท่านั้น และจะไม่รับทราบถึงตัวสินค้าภายใน
ปัจจุบันมีกลุ่มสมาชิกกว่า 3,000 รายที่ขึ้นทะเบียนกับ 6 สมาคมได้แก่สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย สมาคมตัวแทนออกของรับใบอนุญาตไทย และสมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศ สมาคมขนส่งระหว่างประเทศทางเรือ และสมาคมรถบรรทุกเพื่อการนำเข้าและส่งออก ต้องผ่านการอบรมรับรองคุณภาพมาตรฐานตามระเบียบของกรมศุลกากรกำหนด เพื่อออกใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกรมศุลกากร จึงขอให้มั่นใจได้ว่าตัวแทนชิปปิ้งของทั้ง 6 สมาคม มีคุณภาพและมาตรฐาน แต่ยังมีตัวแทนชิปปิ้งอีกกว่า 6,000 ราย ที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว จึงอยากให้ภาครัฐบาลนำตัวแทนเหล่านี้เข้าสู่ระบบ เพื่อลดปัญหาตัวแทนชิปปิ้งบางรายที่ทำผิดกฎหมายจากร้อยละ 0.01 ให้เหลือเป็นศูนย์
" ผู้ประกอบการอาชีพตัวแทนออกของ ขอชี้แจงว่าอาชีพตัวเทนออกของ มีการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ E_customs ผ่าน NSW หรือ ระบบ National Single Window ของหน่วยงานราชการ มีความรับผิดชอบตามกฎหมายการนำเข้าส่งออกทุกฉบับในฐานะตัวแทนกระทำการ เราพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจสอบ สมาชิกที่กระทำผิด ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ก็เข้มงวดอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้"
นายพัชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ นายกสมาคมตัวแทนออกของรับใบอนุญาตไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลจะมีการเพิ่มข้อกฎหมายในการควบคุมตัวแทนชิปปิ้งให้มีมาตรฐานมากขึ้น อยากแนะนำให้เร่งดำเนินการนำตัวแทนชิปปิ้งทั้งหมดเข้าสู่ระบบโดยเร็ว เพราะทางสมาคมฯมีการตรวจสอบมาตรฐานของสมาชิกทุกปี ทั้งการตรวจสอบบุคลากร และขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อให้ได้มาตรฐานและหากพบว่ามีสมาชิกรายใด ที่กระทำผิด ทางสมาคมฯจะถอดออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมฯทันที และทางกรมศุลกากรก็จะทำการถอนใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ
ขณะที่นายวิเชียร กาญจนวิไล ตัวแทนสมาคมตัวแทนออกของอิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า นอกเหนือจากการแก้ไขข้อกฎหมายทางกลุ่มสมาคมฯ ต้องการให้มีการเพิ่มจำนวนเครื่องเอ็กซเรย์ตู้สินค้าให้มากขึ้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการขนส่งสินค้าที่ไม่ถูกต้อง และทั้ง 3 สมาคม จะเดินหน้าเข้าไปปรึกษาหารือร่วมกับอธิบดีกรมศุลกากรในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ถูกต้อง และเป็นไปตามกลไกของตลาด