ดร.ณัฐกรณ์ ผิวชื่น เลขาหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัย(นานาชาติ) ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในต่างประเทศตำแหน่งนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการสูง มีการแย่งตัวกันในองค์กรต่างๆ และให้ผลตอบแทนที่สูง สำหรับประเทศไทยเทรนด์นี้ได้เริ่มจุดติดแล้วจากเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเด็กสอบแอดมิชชั่นคะแนนสูงที่สุดของประเทศ ตัดสินใจทิ้งคณะแพทยศาสตร์เลือกเรียนมาทางคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรงตามที่ตัวเองถนัด ไม่ไปลงที่คณะแพทย์ศาสตร์ หรือคณะวิศวกรรมเหมือนอย่างรุ่นพี่หรือตามที่ผู้ปกครองต้องการ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เด็กในยุคสมัยนี้มองความสามารถความถนัดของตัวเองเป็นหลัก และสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำที่แท้จริงทำให้ เทรนด์การศึกษาไทยจึงเปลี่ยนไปด้วย
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย สามารถที่จะเป็นกุนซือคนสำคัญคนหนึ่งขององค์กร ซึ่งนับว่าแตกต่างกันกับนักบริหารทั่วไป ที่นักบริหารอาจจะมองในมุมมองของการบริหารระบบ การปกป้องความเสี่ยง กำไร ขาดทุน แต่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยอาชีพนี้มองไปแง่มุมของหลักฐานสำคัญที่เป็นตัวเลข สถิติ ที่อ้างอิงได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน ที่สามารถชี้วัดได้ทั้งการวางแผนและวิเคราะห์ความเสี่ยงในทุกด้านขององค์กรเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งไม่ใช่ตัดสินใจจากเพียงแค่ประสบการณ์ หรือมุมมองบุคคล จึงเป็นอะไรที่ชัดเจน
สำหรับภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีนี้มีการปรับหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยครั้งใหญ่ คือ มีการทำแบบสอบถาม และประชุมเพื่อสอบถามความคิดเห็นทั้งในระดับนักศึกษาและศิษย์เก่าที่ทำงานแล้ว รวมถึงบุคคลภายนอกในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประกันภัย และการประกันชีวิตเพื่อที่จะมีการปรับหลักสูตรไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายคาดหวัง โดยมีการพัฒนาในหลายๆ ด้านพร้อมกัน จุดประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และมีความมุ่งหวังให้นักศึกษาที่จบออกไปแล้วสามารถทำงานที่ใดก็ได้ โดยมีหน้าที่หลักคือเป็นมันสมองคอยชี้แนะองค์กร
ร่วมกับแซส จัดWorkshop: Basic SAS, Programming and Statistics and Data Mining
ดร.ณัฐกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมมือกับแซส ซอฟท์แวร์ ในการจัด Workshop: Basic SAS, Programming and Statistics and Data Mining เพราะมองว่าการที่นักศึกษาจะจบออกไปเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเต็มตัว ไม่ใช่เรียนรู้แค่ Excel แต่จะต้องเรียนอะไรที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะนักศึกษาต้องเรียนรู้ด้านการจัดการความเสี่ยง การดูสถิติ การใช้คอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยต้องมีความสามารถในการดูวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถที่จะตัดสินใจได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งเป็นบุคลิกของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยแท้จริง
สำหรับนักศึกษาของภาควิชาฯ ที่จบออกไปในแต่ละปีโดยเฉลี่ยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ทำงานอยู่ในธุรกิจประกันภัย และ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ทำงานในธุรกิจธนาคาร
นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันแซสได้ให้การฝึกอบรมด้านทักษะการวิเคราะห์ผ่านซอฟท์แวร์ SAS Analytics U ซึ่งได้เป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมหลายแห่งในต่างประเทศ โดยมียอดการใช้งาน SAS Analytics U เติบโตอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับประเทศไทยแซสพยายามที่จะช่วยลดช่องว่างของทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอาชีพนักวิเคราะห์ข้อมูลในตลาดนั้นเป็นที่ต้องการมาก ขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดแซสได้เข้าไปในสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง และมีการจัดทำ Workshop อบรมการใช้แซสให้กับนักศึกษา ทั้งที่ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิด, ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เกี่ยวกับบริษัท แซส
บริษัท แซส เป็นผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์และบริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analytics) ด้วยโซลูชั่นเชิงนวัตกรรมที่ให้ลูกค้าในรูปของ Integrated Framework และเทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และการเข้าถึงข้อมูลช่วยให้ลูกค้าของแซส ที่มีมากกว่า 75,000 แห่งทั่วโลก สามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้ดี และรวดเร็วยิ่งขึ้น และนับตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา แซส เดินหน้าอย่างมุ่งมั่นในการเป็น "พลังแห่งการรอบรู้" หรือ The Power to Know® สำหรับลูกค้าทั่วโลก