นพ.อำนวย กาจีนะ กล่าวว่าระบบการตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ หรือ Responsiveness to Intervention : RTI คือระบบการป้องกันอุบัติเหตุจราจรที่มีการจราจรหนาแน่นและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยการบริหารจัดการมีได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับบริบทในแต่ละพื้นที่ พื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานครั้งนี้ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา นครศรีธรรมราช พัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งในส่วนของพื้นที่จังหวัดสงขลา ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้พิจารณาคัดเลือก เทศบาลเมืองเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันเทศบาลเมืองเขารูปช้าง มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งเป็นศูนย์รวมการศึกษา ศูนย์รวมสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการ ห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้มีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยเพื่อการศึกษาและประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนน
เทศบาลเมืองเขารูปช้าง มีการดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติจราจรตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ในพื้นที่เกิดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนกาญจนวนิช ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองต่อเมืองเพื่อเข้าสู่ตัวเมืองสงขลาโดยชุมชนเขตเมืองเขารูปช้างเป็นชุมชนสุดท้ายก่อนเข้าตัวเมืองสงขลา งานรักษาความสงบซึ่งมีภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง จึงเข้าดำเนินงานด้านอาสาจราจร โดยยึดหลักความปลอดภัยต้องมาก่อนหรือ Safety First โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ประชาชนผู้สัญจรผ่านไปมาและรวมถึงนักท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความมั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวัน
นพ.อำนวย กาจีนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค เล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในเมืองใหญ่ (RTI ใน Big city) จึงขอความร่วมมือนายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงร่วมมืออย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ณ กรุงเทพมหานคร