นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์การปรับข้อมูลไม้ผลเอกภาพ โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี ร่วมมือกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3) กลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล สำนักส่งเสริมการจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อร่วมบูรณาการวิเคราะห์ปรับข้อมูลผลติดตามสถานการณ์การผลิตไม้ผลที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะความแห้งแล้ง ของคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวน 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด
ผลติดตามสถานการณ์หลังภัยแล้งในปี 2559 (ข้อมูล ณ 7 มิถุนายน 2559) พบว่า เนื้อที่ให้ผลของไม้ผลทั้ง 4ชนิด มีจำนวน 664,874 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 662,965 ไร่ เพิ่มขึ้น 1,909 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29 โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.51 มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55 ส่วนเนื้อที่ให้ผลที่ลดลง คือ เงาะ และลองกอง ซึ่งลดลงประมาณร้อยละ 3.03 และ 3.22 ตามลำดับ ผลผลิตต่อไร่ทั้ง ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ลดลงทุกชนิด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน มีฝนตก สลับอากาศหนาว อากาศร้อน อากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในแต่ละวัน รวมทั้งมีพายุลมแรงกระทบถึง 3 ครั้ง ส่งผลให้ผลไม้ที่กำลังจะเริ่มออกดอกไม่ออกดอกกลับออกใบอ่อนแทน ส่วนรุ่นที่ออกดอกขึ้นลูกแล้วอากาศหนาวน้ำค้างลงทำให้ดอกแห้งดำ แม้จะมีการพักสะสมอาหารและเริ่มติดดอกใหม่ในรุ่นถัดไปได้บ้าง แต่ก็ประสบปัญหาฝนตกดอกร่วงจึงทำให้การติดดอกออกผลน้อยลง อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำ ทำให้ผลผลิตที่กำลังเติบโตทางผลชะงักการเจริญเติบโต ขนาดลูกเล็ก และต้นสลัดลูกร่วงเพื่อที่จะใช้น้ำเลี้ยงต้นแทนการเลี้ยงผล
โดยในปี 2559 คาดว่าจะเหลือผลผลิตรวมทั้ง 4 สินค้าประมาณ 559,515 ตัน ลดลงจากปี 2558 จำนวน 160,737 ตัน หรือลดลงร้อยละ 22.32 ผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยผลผลิตที่ลดลงมากที่สุดคือ เงาะ ซึ่งลดลงมากถึงร้อยละ 37.23 เพราะเงาะขาดน้ำสลัดลูกทิ้งร่วงเกือบหมด รองลงมาได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลองกอง ลดลงร้อยละ 17.85 14.53 และ 6.64 ตามลำดับ
ด้านนางบุบผา ภู่ละออ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตไม้ผลในขณะนี้ว่า เงาะ อยู่ในระยะเป็นผล และสร้างเนื้อ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วร้อยละ 38.31 ผลผลิตต่อไร่ลดลงค่อนข้างมาก เพราะช่วงเงาะออกดอกมีฝนตกและมีน้ำค้างลงจัดดอกเงาะร่วง ฝ่อดำ และดอกที่เหลือพัฒนาช่อดอกไม่สมบูรณ์มีขนาดช่อสั้น และเงาะเติบโตทางผลขาดแคลนน้ำเงาะสลัดลูกทิ้งหมด โดยผลผลิตจะออกกระจุกตัวสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน ทุเรียน จากสภาพอากาศที่ร้อนมากในกลางวัน กลางคืนหนาว สลับกับมีฝนและมีพายุลมแรง ใบร่วงไม่ออกดอก ต้นทุเรียนส่งอาหารเลี้ยงใบอ่อนแทนทำให้ผลที่ออกก่อนสลัดผลร่วงมาก ทุเรียนทั้งลูกเล็กและลูกใหญ่ใกล้อายุเก็บเกี่ยวได้ ถูกพายุพัดร่วงหล่นเสียหายมาก ผลผลิตจะออกมากในเดือนพฤษภาคม โดยขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ 76.89
มังคุด ผลผลิตลดลงจากอากาศที่ร้อนสลับหนาวและมีฝนทำให้มังคุดในระยะแทงช่อดอกไม่ออกดอก กลับออกใบอ่อนแทนมาก มังคุดส่วนใหญ่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ 49.63 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือน พฤษภาคม ต่อเนื่องถึงต้นเดือน มิถุนายน ลองกอง ส่วนใหญ่อยู่ในระยะติดผล และทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ร้อยละ 23.22 ในปีนี้ลองกองออกดอกกระจายหลายรุ่น ช่อดอกสั้น ขนาดผลเล็กทำให้น้ำหนักต่อช่อน้อย ลองกองยังคงเป็นพืชแซมในสวนไม้ผลอื่นซึ่งการบังคับออกดอกได้ลำบาก ผลผลิตจะออกกระจุกตัวในช่วงเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ไม้ผลในปีนี้มีปริมาณน้อย โดยผลกระทบหลักสาเหตุเกิดจากสภาวะความแห้งแล้งยาวนาน ต้นไม้ผลขาดแคลนน้ำเลี้ยงต้น ส่งผลให้ต้นไม้ยืนต้นตาย ผลผลิตเสียหายร่วงหล่นจำนวนมาก จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในภาคตะวันออก พิจารณาและวางแผนก่อนที่จะปลูกหรือขยายพื้นที่ไม้ผลควรต้องมีแหล่งน้ำในสวนของตนเองให้เพียงพอใช้ตลาดทั้งปี เนื่องจากสภาพอากาศในอนาคตคงจะแห้งแล้งขึ้นเรื่อยๆ