นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายด้านการเกษตรและระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรเปิดเผยว่าตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้มีนโยบายในการลดต้นทุนการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตรนั้น คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายด้านการเกษตรและระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) รวบรวมผลการดำเนินการตรวจสอบสินค้าเกษตรและปัจจัยการผลิตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลดำเนินการตรวจสอบสินค้าเกษตรและปัจจัยการผลิต ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ถึงมิถุนายน 2559 ได้จำแนกผลการตรวจสอบตามกฎหมายออกเป็น 11 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.ปุ๋ย 2. พ.ร.บ.พันธุ์พืช 3. พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 4. พ.ร.บ.กักพืช 5. พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าและการจำหน่ายเนื้อสัตว์ 6. พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ 7. พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์ 8. พ.ร.บ.ยา 9. พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 10. พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ และ 11. พ.ร.บ. โรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ผลการดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการ ณ สถานประกอบการ เช่น ฟาร์ม โรงงาน ร้านค้า เป็นต้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 58,194 แห่ง (ราย) ซึ่งพบความไม่สอดคล้องตามกฎหมาย จำนวนทั้งสิ้น 231 แห่ง (ราย) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.40 และจากการเก็บตัวอย่าง พบความไม่สอดคล้องตามกฎหมาย คิดเป็นร้อยละ 0.82
ขณะที่ผลการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย มีการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้ (1) การสั่งดำเนินการแก้ไข และปรับปรุงสถานประกอบการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎหมาย จำนวน 37 ราย (2) การยึด/อายัด ปุ๋ย จำนวน 74,465.20 กิโลกรัม 7,272.5 ลิตร วัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 420.5 กิโลกรัม 4,102.3 ลิตร พันธุ์พืช จำนวน 829.05 กิโลกรัม 12,000 เมล็ด และสินค้าเกษตรในสัมภาระและของติดตัวผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 8 ราย นอกจากนี้ ได้ยึด /อายัด ซากสุกร จำนวน 2 ตัว เนื้อสุกร 10 กิโลกรัม เนื้อกระบือนำเข้า 1,720 กิโลกรัม และเนื้อโคนำเข้า 830 กิโลกรัม (3) การทำลาย และสั่งทำลายสัตว์เลี้ยงที่ตรวจพบโรคระบาดสัตว์ หรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่ กระบือ และแพะ จำนวน 30 ราย (4) การแจ้งให้ระงับการส่งออก และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์การส่งออกเพื่อการค้า จำนวน 5 ราย (5) การดำเนินการนำคดีส่งฟ้องศาล จำนวน 235 ราย และ (6) การดำเนินการในด้านอื่น ๆ อาทิ การสั่งกักสัตว์ที่สัมผัสหรือพบโรคระบาด จำนวน 15 ราย การประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวในอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 1 ครั้ง การยกเลิกร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ จำนวน 6 ราย การเปรียบเทียบปรับ จำนวน 14 ราย และการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 1 ราย