นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศประสบอุทกภัยและฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย การช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ผู้ประสบภัยดำเนินชีวิตได้ในช่วงที่เกิดภัย รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย จึงได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยให้จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดสถานการณ์ภัย ให้เร่งสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อพิจารณาประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที โดยยึดการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 อย่างเคร่งครัด ซึ่งมุ่งช่วยเหลือด้านการดำรงชีพและความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัยในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า การซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิม ไม่สามารถใช้จ่าย เพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ถาวรหรือก่อสร้างใหม่ได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง โดยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต้องคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือได้กำหนดหลักเกณฑ์และแยกประเภทตามรายการความเสียหาย อาทิ กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง จ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่าจัดหาสิ่งของในการดำรงชีพเบื้องต้นเท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท กรณีผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย จ่ายเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 33,000 บาท กรณีผู้ประสบภัยเช่าบ้านเรือนของผู้อื่น และบ้านเช่าได้รับความเสียหายทั้งหลังหรือเสียหายบางส่วนจนอาศัยอยู่ไม่ได้ จ่ายเป็นค่าเช่าบ้านแก่ผู้ประสบภัยเท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน กรณีโรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ได้รับความเสียหาย จ่ายเป็นค่าวัสดุซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าวเท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 5,000 บาท กรณีบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาในสถานพยาบาลตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 3,000 บาท กรณีเสียชีวิต จ่ายเป็นค่าจัดการศพรายละไม่เกิน 25,000 บาท หากผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว ให้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลืออีกไม่เกิน 25,000 บาท
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ได้ที่สำนักช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำหรับประชาชนในพื้นที่ 76 จังหวัด สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาลในพื้นที่ที่เกิดภัย โดยจัดเตรียมเอกสารและหลักฐานให้ครบถ้วน ดังนี้ สำเนาหนังสือรับรองผู้ประสบภัย สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือ ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำ สำเนาเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้าน สำเนาบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจ (ระบุมูลค่าความเสียหายโดยประมาณ)ภาพถ่ายความเสียหาย สำเนาใบมรณะบัตร (กรณีมีผู้เสียชีวิต) และหนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี) เพื่อจะได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th