นางสาวภัทรา มณีรัตนะพร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ภาครัฐได้กำหนดนโยบายในการผลักดันให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเกิดความเคลื่อนไหว เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหลายฝ่ายก็ออกมาวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างดังกล่าวได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้ประกอบการด้านธุรกิจรับสร้างบ้านมองว่า น่าจะเกิดผลดีต่อธุรกิจ เพราะจะทำให้ผู้ที่ถือครองที่ดินเปล่าที่มีศักยภาพหันมาก่อสร้างบ้านหรือโปรเจคด้านอสังหสริมทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจรับสร้างบ้านและธุรกิจก่อสร้างโดยรวมคึกคักยิ่งขึ้นเช่นกัน
ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามสมควรจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 5% ของราคาประเมินโดยกรมธนารักษ์ หากยังไม่มีการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ให้ปรับเพิ่มอัตราภาษีอีก 1 เท่าตัว ทุกๆ 3 ปี"การผ่านร่าง พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจรับสร้างบ้านเมืองไทย เพราะจะทำให้ผู้ที่มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต้องกลับมาวิเคราะห์ให้ลึกว่า จะบริหารจัดการกับที่ดินของตนเองอย่างไร ซึ่งความเป็นไปได้มี 2 ทางคือขายที่ดินหรือจะเดินหน้าพัฒนาที่ดินดังกล่าวให้เกิดเป็นรายได้ทดแทนการจ่ายภาษีอันเนื่องจากทิ้งที่ดินโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มผู้ที่ถือครองที่ดินส่วนใหญ่จะเลือกทางเลือกที่ 2 มากกว่า เพราะด้วยสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้กลุ่มที่มีทุนกระโดดเข้ามาพัฒนาโปรเจค อสังหาฯ กันมากขึ้น" นางสาวภัทรา มณีรัตนะพร แสดงความเห็น
ด้านภาพรวมตลาดแรงงานอันถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น นางสาวภัทรา มณีรัตนะพร แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ธุรกิจรับสร้างบ้านของเมืองไทย หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งคือ กลุ่มแรงงานฝีมือ ซึ่งปัจจุบันแม้หลายบริษัทจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้เพื่อลดผลกระทบด้านแรงงาน แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกขั้นตอน และยิ่งในปีนี้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะทำให้แรงงานเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น แต่ล่าสุดหลังจากที่รัฐบาลพม่าได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวพม่าที่ทำงานในไทย ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้เช่นกัน
"การจะอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านยุคปัจจุบันได้อย่างมั่นคงนั้น 'การปรับตัว' ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวด้านเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาการออกแบบให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในแต่ละยุค การบริหารจัดการด้านแรงงาน การให้ความสำคัญด้านบริการหลังการขายและนวัตกรรมการก่อสร้าง ต่างเป็นกลไกที่ไม่สามารถละเลยจุดใดได้ ส่วนตัวเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจรับสร้างบ้านจะแข่งกันด้วย 4 ปัจจัยดังกล่าว และตลาดจะเป็นผู้ที่คัดกรองให้เหลือแต่ผู้เล่นตัวจริงของธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านของเมืองไทยในอนาคต" นางสาวภัทรา มณีรัตนะพร กล่าวสรุป