การประชุมสภาผู้ว่าการประจำปีของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ครั้งที่ 1 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

อังคาร ๒๘ มิถุนายน ๒๐๑๖ ๑๕:๑๙
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้ว่าการประจำปีของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ครั้งที่ 1 (1st Asian Infrastructure Development Bank (AIIB) Board of Governors' Annual Meeting) เมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน 2559 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 57 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วจำนวน 46 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ในการประชุมสภาผู้ว่าการประจำปีของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2559 มีนาย Zhang Gaoli รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และนาย Lou Jiwei รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธาน โดยสภาผู้ว่าการได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานและงบประมาณประจำปี ค.ศ. 2016 รวมถึงรับทราบโครงการเงินกู้ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการธนาคารชั่วคราว (Interim Board of Directors:BODs)แล้วจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเงินกู้แก่ประเทศปากีสถาน ทาจิกิสถาน อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ ประกอบด้วย การร่วมลงทุน (Co-finance) กับธนาคารพัฒนาเอเชียในโครงการก่อสร้างทางมอเตอร์เวย์ การร่วมลงทุนกับธนาคารยุโรปสำหรับการพัฒนาและการบูรณะในการพัฒนาเส้นทางบริเวณรอยต่อชายแดน การร่วมลงทุนกับธนาคารโลกในโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชนแออัด และการลงทุนในโครงการพัฒนาและขยายระบบจ่ายพลังงาน ตามลำดับ รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้น 509 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการเติมเต็มความต้องการด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิกต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมสภาผู้ว่าการในครั้งนี้ยังได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการธนาคารชุดแรก อย่างเป็นทางการรวม 11 ตำแหน่ง ประกอบด้วย กรรมการจากสมาชิกภายในภูมิภาค 9 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย รัสเซีย สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และไทย และกรรมการจากสมาชิกภายนอกภูมิภาค 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนจาก สหราชอาณาจักร และเยอรมนี เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตาม แนวนโยบายที่สภาผู้ว่าการได้ให้แนวทางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีข้อจำกัดด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างสมดุล การร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีอื่น ๆ เช่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย ฯลฯ

ในการร่วมลงทุนที่มุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำภายในภูมิภาค และการพัฒนาระบบการดำเนินงานให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงสร้างระบบธรรมาภิบาลที่เน้นการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสตามมาตรฐานของธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีอื่น ๆ ในระดับสากลต่อไป

ต่อมา ในวันที่ 26 มิถุนายน 2559 ธนาคาร AIIB ได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ Infrastructure and Global Economic Growth และหัวข้อ Financing Green Infrastructure: The Role of Multilateral Development Banks (MDBs) ซึ่งได้มีการหารือถึงบทบาทและความสำคัญของการพัฒนาความเชื่อมโยง ของโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว โดยบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ได้ประมาณการว่า ในช่วง 15 ปีข้างหน้าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังมีความต้องการการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกกว่า 57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรักษาระดับการเติบโต ของเศรษฐกิจโลกต่อไป ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีต่าง ๆ ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่จะมีบทบาทในการผลักดันความร่วมมือและการเชื่อมโยงระหว่างความต้องการและแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเหล่านี้ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแลให้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินการโครงการสูงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 6 การส่งเสริมการดำเนินโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์เงินกู้เฉพาะสำหรับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Credit Loans) พันธบัตร และเงินสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) หรือ COP21 จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและถือเป็นพันธกิจที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืน

อนึ่ง ธนาคาร AIIB ได้เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 โดยมีนาย Jiin Liqun ดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคาร (President) ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ภายหลังการส่งมอบสัตยาบันสารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 พร้อมกันนี้ นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้แทนของประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารในนามกลุ่มออกเสียงของไทย ซึ่งประกอบด้วยประเทศไทย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ มาเลเซีย เนปาล และมัลดีฟส์ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นคณะกรรมการชุดแรกอย่างเป็นทางการของธนาคาร AIIB โดยจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปี

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3681

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม