พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา กล่าวว่า "รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไข ลดระดับปัญหายาเสพติด ซึ่งได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสังคมโดยรวม จึงกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการ โดยเร่งด่วน ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชน จะต้องผนึกกำลังกัน ทำงานอย่างเป็นระบบ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้โครงการ "ประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด" ขับเคลื่อนแผนงาน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกัน ด้านปราบปราม และด้านบำบัดรักษา ซึ่งจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พบว่าปัญหายาเสพติดยังมีการแพร่ระบาดในโรงเรียน ในสถานศึกษาอยู่ในระดับมากเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยที่สุด สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภาคเยาวชน (ศอ.ปส.ย.) โดยมีการฝึกและพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ การถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับโทษ พิษภัย ของยาเสพติด แก่เยาวชน ศอ.ปส.ย. เพื่อให้นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่เยาวชนรุ่นต่อๆ ไปให้เกิด ความตระหนัก การยับยั้งช่างใจ มีทักษะการปฏิเสธ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด"
"โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ เยาวชนแกนนำที่เป็นตัวแทนมาจากทุกภาค มีการจัดตั้งทุกจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชนเบาบางลงได้ ขอให้น้องๆ เยาวชนแกนนำ ศอ.ปส.ย. ร่วมเป็นพลังในการดำเนินงานด้านป้องกันยาเสพติด โดยช่วยคิดช่วยทำ ช่วยกันสร้างและขยายเครือข่ายเยาวชน เพิ่มจำนวนสมาชิก ศอ.ปส.ย. ให้มากขึ้นครอบคลุมทุกจังหวัด โดยสามารถขอรับการสนับสนุนในด้านต่างๆได้จาก ป.ป.ส. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ให้การทำงานของ ศอ.ปส.ย. ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ การทำงานด้านเด็กและเยาวชน" พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา กล่าวเพิ่มเติม
โดยในภาคเช้าได้มีการแสดงของเยาวชน ศอ.ปส.ย และการเสวนา เรื่อง "มุมมองของคุณ ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยมีผลกระทบต่อเยาวชนอย่างไร" ผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชน และนายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการ ป.ป.ส. รักษาราชการแทนที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ได้ร่วมสะท้อนให้เห็นถึง บทบาทเยาวชนกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและการสนับสนุนจากหน่วยงาน
"มหกรรมสัปดาห์ต่อต้านยาเสพติดโลก" ภายใต้โครงการ "สังคมฉัน ห่างไกลยาเสพติด" (Change the social, you can do it.) โดยเยาวชน ศอ.ปส.ย. ระดับภาค 10 ภาค จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ กำหนดจัดต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 24-26 มิถุนายน 2559 ระหว่างเวลา 09.00 - 16.00 น. ณ ศูนย์การค้า เจ เจ มอลล์ ชั้น 1 เขตจตุจักร กรุงเทพ เพื่อให้เยาวชน ศอ.ปส.ย. ทั้ง 10 ภาค รวม 77 จังหวัด ที่ทำงานด้านการป้องกันยาเสพติดได้มีเวทีในการแสดงความสามารถทั้งด้านความคิดและกิจกรรมสร้างสรรค์ รวมแสดงเจตนารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เยาวชน ศอ.ปส.ย. จะมีส่วนสำคัญในการช่วยผู้ใหญ่ทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน" อย่างแท้จริงซึ่งในวันที่ 26 มิถุนายน 2559 เวลาประมาณ 14.00 น. นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. เข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก โดยจะมีการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ร่วมกับ เยาวชน ศอ.ปส.ย. และรับฟังการรายงานผลการจัดจาก ประธาน ศอ.ปส.ย.ระดับชาติ นอกจากนี้จะมีการเผยแพร่ภาพ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อ่านคำปราศรัยเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ช่วงข่าวภาคค่ำ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD
นายณรงค์ รัตนานุกูล กล่าวถึง วัตถุประสงค์การจัดงานในปีนี้เพื่อร่วมกิจกรรมเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ประกอบมติการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก ปีนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. จึงกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรม โดยใช้คำขวัญ "ประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด" เฉลิมพระเกียรติ 70 ปี ทรงครองราชย์ จึงขอเชิญชวนทุกท่าน สวมเสื้อสีเหลือง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ร่วมกันต่อต้านยาเสพติด โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดี ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหมู่บ้าน/ชุมชน และร่วมเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังปัญหายาเสพติด แจ้งเบาะแสยาเสพติดสายด่วน ป.ป.ส. 1386 หรือสถานีตำรวจในทุกพื้นที่ เพื่อให้ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ปลอดภัยจากยาเสพติด ภายใต้แผน "ประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด"