นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ กล่าวว่า "เนื่องด้วย ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) และการประนอมข้อพิพาท (Mediation) ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและได้รับความนิยมในการระงับข้อพิพาทจากทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในการค้าระหว่างประเทศ
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2557 มีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท และมีผู้ประกอบการกว่า 500,000 ราย นำมาซึ่งข้อพิพาทในการซื้อขายระหว่างลูกค้าและร้านค้าออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน กระบวนการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากธุรกรรมทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเป็นการดำเนินงานแบบตัวต่อตัว คือผู้ร้องเรียนต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานเหล่านี้จะจัดให้มีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนเบื้องต้นและมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาที่พบ คือ ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถให้บริการการระงับข้อพิพาทที่ครบวงจรและรวดเร็ว อีกทั้งยังขาดบุคลากรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการดำเนินงานที่เพียงพอต่อปริมาณข้อร้องเรียนที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนธุรกรรมทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นทาง ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการ จึงพร้อมเป็นผู้นำในการดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีระบบ "ทอล์คดีดี (TalkDD)" หรือระบบการให้บริการระงับข้อพิพาทพาณิชย์ออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในประเทศไทย
สำหรับระบบ "ทอล์คดีดี" ถือเป็นพื้นที่กลางในการให้บริการเจรจาพูดคุยและทำการประนอมข้อพิพาทให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าออนไลน์อย่างครบวงจร (One Stop Service) ผ่านทางระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา รักษาความลับและรักษาความสัมพันธ์ของคู่กรณี ซึ่งระบบดังกล่าวได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปที่กำหนดว่าหากเกิดข้อพิพาทจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ คู่กรณีต้องประนอมโดยใช้ระบบ Online Dispute Resolution (ODR) ในการระงับข้อพิพาทก่อน
สำหรับรูปแบบการให้บริการ ทางร้านค้าออนไลน์สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ พร้อมทั้งจะได้รับตราโลโก้ไปติดที่เว็บไซต์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าที่เข้าใช้บริการ โดยหากเกิดข้อพิพาท อาทิเช่น ได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ไม่ได้รับสินค้า ฯลฯ ทางผู้ซื้อสามารถทำการร้องเรียนผ่านระบบ โดยกดที่ตราโลโก้ทอล์คดีดี จากหน้าเว็บไซต์ของผู้ขายได้ทันที หรือสามารถทำการร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ www.talkDD.com เพื่อทำการเจรจากับทางร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ หากเจรจาประนอมข้อพิพาทกันผ่านระบบอัตโนมัติไม่สำเร็จ 2 ครั้ง สามารถเข้าสู่กระบวนการประนอมข้อพิพาทออนไลน์โดยมีผู้ประนอมข้อพิพาทออนไลน์ของ ที เอช เอ ซี เข้าร่วมเป็นตัวกลางผ่านระบบพูดดีดีสามฝ่ายได้ เมื่อมีการประนีประนอมสำเร็จ ทางระบบจะจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ (Settlement Agreement) ส่งมอบให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่หากการประนอมข้อพิพาทไม่สำเร็จ ทางระบบจะจัดทำข้อแนะนำ (Recommendation) จากผู้ประนอมให้ทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากนั้น หากคู่กรณีประสงค์ที่จะเข้าสู่กระบวนการประนอมเต็มรูปแบบ (นอกระบบทอล์คดีดี) โดยผ่าน ที เอช เอ ซี ก็สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ ตราโลโก้ เป็นการแสดงความจริงใจของร้านค้าที่พร้อมจะใช้ระบบ Online Dispute Resolution เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และพร้อมพูดคุยเจรจากับลูกค้าเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ที เอช เอ ซี จะทำการรวบรวมข้อมูลรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและทำการอัพเดทตลอดเวลาเพื่อเป็นหลักประกันความมีตัวตนของร้านค้า เพื่อรองรับข้อพิพาทของผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ไทยจากผู้ซื้อทั่วโลก นอกจากนี้ยังพร้อมต่อยอดจับมือกับพันธมิตรอื่นๆ ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขายบนระบบออนไลน์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการสร้าง ODR Ecosystem สำหรับระงับข้อพิพาทในการซื้อขายออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เน้นกลุ่มผู้ประกอบการออนไลน์รายย่อยมาใช้ประโยชน์ระบบอย่างเต็มที ในช่วงทดสอบระบบผู้ประกอบการออนไลน์สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อทดลองใช้งาน ฟรี 6 เดือน ที่ www.talkDD.com
นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า "ระบบ "ทอล์คดีดี (TalkDD)" จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป ซึ่งหวังว่าระบบดังกล่าวจะเป็นช่องทางการเจรจา ประนอมข้อพิพาทจากปัญหาที่เกิดจากธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายออนไลน์ที่เข้าร่วมโครงการอย่างครบวงจร โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2559 จะสามารถนำร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ของไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 1,000 ร้านค้า โดยในเบื้องต้น ที เอช เอ ซี เป็นตัวกลาง ผู้บุกเบิกที่ตั้งใจสร้าง ODR Society รวบรวมร้านค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบ เชื่อมผู้ซื้อผู้ขายเข้าด้วยกัน นำไปสู่การพัฒนาระบบระงับข้อพิพาททางในการซื้อขายออนไลน์อย่างสร้างสรรค์เทียบเท่าในต่างประเทศ เป็นเรือธงในการเชื่อมโยงกระบวนการยุติธรรมทางเลือกยุคใหม่ของไทยให้เทียบเคียงต่างประเทศ สามารถรองรับการขยายตัวของธุรกิจการค้าในประเทศและระหว่างประเทศที่มีความหลากหลายในยุคดิจิตัล ไม่ได้หวังผลในเชิงพาณิชย์"
สำหรับร้านค้าออนไลน์หรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ สามารถขอรับรายละเอียดและสอบถามข้อมูลได้ที่ ที เอช เอ ซี สถาบันอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายการตลาด โทร. +66 (0) 2018 1615 ต่อ 109-110 Email: [email protected] หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์