กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล ร่วมกับมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม - ประเทศไทย ได้จัดทำโครงการศึกษาปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. .... (ร่างฉบับที่ 3) ฉบับแก้ไขเป็นรายมาตรา และฉบับใหม่ทั้งหมด ซึ่งการประชุมเพื่อเสนอผลงานต่อเวทีสาธารณะจัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้าย จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการที่มีความรู้แขนงที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านอุทกธรณีวิทยา ด้านน้ำผิวดิน ด้านน้ำบาดาล ด้านธรณีวิทยา ด้านวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้านกฎหมายอาญา ด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง (กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายด้านการกระจายอำนาจ ฯลฯ) และผู้แทนกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม (หน่วยงานภายในกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบกิจการ น้ำบาดาล และประชาชนผู้ใช้น้ำบาดาล) จำนวน 200 คน โดยมีการจัดประชุมเวทีเสวนาทางวิชาการ (Focus Group) จำนวน 2 ครั้ง และการประชุมเวทีสาธารณะทั่วประเทศ รวม 7 ครั้ง แบ่งเป็นภาคผู้ปฏิบัติ จำนวน 3 ครั้ง และภาคประชาชน จำนวน 4 ครั้ง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การประชุมเสนอผลงานต่อเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. .... (ร่างฉบับที่ 3) ฉบับแก้ไขเป็นรายมาตรา และฉบับใหม่ทั้งหมด แบ่งหัวข้อการบรรยาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- การนำเสนอสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. .... ร่างฉบับที่ 3 (ฉบับแก้ไขเป็นรายมาตรา และฉบับใหม่ทั้งหมด) โดย นายพนัส ทัศนียานนท์ ผู้บริหารโครงการฯ (ภาคเช้า)
- คณะผู้ศึกษาวิจัย รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และซักถามปัญหาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ น้ำบาดาล พ.ศ. .... ร่างฉบับที่ 3 (ฉบับแก้ไขเป็นรายมาตรา และฉบับใหม่ทั้งหมด) จากผู้เข้าร่วมการเสนอผลงานต่อเวทีสาธารณะ (ภาคบ่าย)
ในการนี้ หลังจากการเสนอผลงานต่อเวทีสาธารณะเรียบร้อยแล้ว ทางมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม - ประเทศไทย จะทำการปรัปปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. .... ร่างฉบับที่ 3 (ฉบับแก้ไขเป็นรายมาตรา และฉบับใหม่ทั้งหมด) เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. .... ฉบับสมบูรณ์ พร้อมทั้งจัดทำบทสรุปการวิเคราะห์ ถึงหลักการ สาระสำคัญ และคำอธิบายเป็นรายมาตรา และ หรือรายฉบับแล้วแต่กรณี สำหรับเป็นคู่ในการชี้แจงต่อผู้บริหาร คณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรรมการกฤษฎีกา และสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งเป็นคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานของ พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับภารกิจ อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในปัจจุบันและในอนาคต