ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านกึ่งวิถีสุนัขระยะที่ 2 จ.อุทัยธานี

พฤหัส ๐๒ มิถุนายน ๒๐๐๕ ๑๐:๑๖
กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้(1 มิ.ย. 48) เวลา 11.00 น. ที่บริเวณโครงการก่อสร้างบ้านกึ่งวิถีสุนัข นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ พ.ญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการ ก่อสร้างบ้านกึ่งวิถีสุนัข (ระยะที่ 2) ณ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี โดยมีนายอมรพันธุ์ นิมานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ร่วมคณะเพื่อศึกษาโครงการนำไปปรับใช้กับปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครตระหนักถึงปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีนโยบายไม่กำจัดสุนัขโดยการทำลายชีวิต จึงมีนโยบายลดจำนวนสุนัขโดยการทำหมันและปล่อยกลับถิ่นที่อยู่เดิม สำหรับสุนัขที่มีนิสัยก้าวร้าวดุร้ายกรุงเทพมหานครจะจับและนำไปดูแลที่ศูนย์ควบคุมสุนัขประเวศ ซึ่งปัจจุบันมีสุนัขที่อยู่ในความดูแลประมาณ 1,500 ตัว นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีโครงการจัดสร้างที่พักพิงสุนัขอีกแห่งหนึ่งบนเนื้อที่ประมาณ 1,400 ไร่ ในบริเวณ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ปลูกป่าโดยอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ทั้งนี้โครงการฯ ในระยะที่ 1 ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จแล้วนั้นสามารถรองรับสุนัขได้ประมาณ 1,000 ตัว และปัจจุบันกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะสามารถรองรับได้อีกประมาณ 7,000 ตัว เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จทั้ง 2 ระยะ จะสามารถรองรับสุนัขจรจัดได้ประมาณ 8,000 ตัว อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูสุนัขที่ อ.ทัพทัน กรุงเทพมหานครจะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และจะประสานงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยฝึกสุนัข รวมทั้งจะพัฒนาให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนรักสัตว์ โดยจะมีสถานที่สำหรับฝึกและแสดงสุนัข และเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการเลี้ยงสุนัขสามารถขอสุนัขที่กรุงเทพมหานครดูแลไปเลี้ยงได้ คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดหรือสุนัขที่ไม่มีเจ้าของได้ในระยะสั้น
สำหรับในระยะยาวนั้นจากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการในปัจจุบันพบว่าจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่กทม.มีประมาณ 100,000 กว่าตัว โดยสำนักอนามัย กทม.ได้ทำหมันไปแล้ว 80,000 ตัว ทั้งนี้ตามวงจรชีวิตสุนัขจะอยู่ได้ 10 — 15 ปี แต่ถ้าเป็นสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขจรจัด บางทีอาจเป็นโรคทำให้อายุสั้นลงเหลือเพียง 4 — 5 ปี ซึ่งหากไม่มีปริมาณสุนัขจรจัดเพิ่มเข้ามาในอนาคตจำนวนของสุนัขจรจัดก็ควรจะต้องหมดไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีผู้ที่ไม่สามารถดูแลสุนัขของตนเองได้และนำไปปล่อยตามวัดหรือตามพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกทม.กำลังอยู่ในระหว่างการออกข้อบัญญัติการเลี้ยง การควบคุมและการปล่อยสุนัข โดยกำหนดให้เจ้าของ นำสุนัขที่อยู่ในความดูแลไปลงทะเบียนเพื่อทำประวัติ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในอนาคตหากนำสุนัขที่ลงทะเบียนไว้ไปปล่อยก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของ และจะมีบทลงโทษด้วยการให้เจ้าของสุนัขนั้นเสียค่าปรับ ซึ่งคาดว่าจะช่วยจำกัดปริมาณสุนัขที่จะเข้ามาสู่ระบบได้อีกทางหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน กทม. จะเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มีสัตว์เลี้ยงในความดูแล ต้องมีความรับผิดชอบไม่ปล่อยให้สุนัขของตนไปทำความเดือดร้อนต่อผู้อื่น รวมทั้งช่วยกันสอดส่องในพื้นที่ที่อยู่อาศัยหากพบเห็นสุนัขที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวดุร้ายให้รีบแจ้งมายังกทม.ซึ่งจะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปจับสุนัขนั้นออกมาจากพื้นที่ โดยกทม.จะนำมากักเพื่อฝึกพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น และดูแลเรื่องปัญหาโรคที่อาจแพร่ระบาดในอีกส่วนหนึ่งด้วย--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ