พลเอก ดร. ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกอาหารที่ทำมาจากสัตว์ประเทศในกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่น ในอันดับต้นๆ และยังคงเป็นที่น่าเชื่อถือของเวทีระดับนานาชาติ ทั้งเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์และวิชาการ โดยล่าสุดทาง องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE มั่นใจให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนานาชาติด้านการศึกษาทางสัตวแพทย์ ครั้งที่ 4 (4th OIE Global Conference on Veterinary Education) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 22-24 มิถุนายน 2259 ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงให้นานาชาติเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลก ที่ไม่หยุดพัฒนาด้านปศุสัตว์
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกอาหารที่ทำมาจากสัตว์ประเทศในกลุ่มยุโรป และญี่ปุ่น ในอันดับต้นๆ และเมื่อทั่วโลกเห็นศักยภาพในสัตวแพทย์ไทย ที่ว่าสามารถทำงานได้อย่างเข้มแข็ง นานาประเทศก็จะให้ความไว้วางใจ นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์จากไทย ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านการปศุสัตว์ครั้งสำคัญ
ขณะเดียวกัน ภาควิชาการของไทย ก็จะได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ระหว่างสัตวแพทย์ทั่วโลก โดยในการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดนิทรรศการ ด้านการบริการทางสัตวแพทย์ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ (ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานแปรรูป) ภาคบริการ (โรงพยาบาลสัตว์) และภาคเกษตรกร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทการเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางสัตวแพทย์ ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ เป็นผู้ดำเนินการจัดการประชุมในครั้งนี้ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนคณะสัตวแพทย์ สัตวแพทยสภา และสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านวิชาการทาง
สัตวแพทย์ และการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีความก้าวหน้า ก้าวทันกับยุคสมัยในปัจจุบัน รวมทั้งการนำข้อแนะนำของ OIE ด้านการศึกษาสัตวแพทย์มาประยุกต์ใช้ในหลักสูตร เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดต่อวิชาชีพสัตวแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้มแข็งของงานสัตวแพทย์บริการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 180 ประเทศทั่วโลก ประมาณ 500 – 600 คน คาดว่าจะนำรายได้เข้าประเทศกว่า 15 ล้านบาท
"การประชุมระดับโลกครั้งนี้ จะช่วยให้การพัฒนาด้านการเรียนรู้เชิงวิชาการทางวิชาชีพสัตวแพทย์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการยกระดับความรู้ และจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ประชุมหารือ เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านสัตวแพทย์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ ในการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของสัตวแพทย์ ของนานา ประเทศ ให้มีมาตรฐานในระดับเดียวกัน" พลเอก ดร. ประสาท กล่าว
ด้าน Dr. Botlhe Michael Modisane, President of the OIE World Assembly of Delegates เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น "ความก้าวหน้าของการศึกษาด้านสัตวแพทย์ในระดับโลก" (Veterinary Education: Global Progress) "สถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างไร จึงจะสามารถผลิตบัณฑิตสัตวแพทย์ที่มีขีดความสามารถตามที่กำหนด รวมถึงหลักสูตรหลักที่ใช้ในการศึกษาสัตวแพทย์ (How to support VEEs to implement Day 1 Competencies and the Model Core Curriculum) "การพัฒนาทักษะอื่นที่จำเป็น เช่น การเป็นผู้นำ การสื่อสาร เศรษฐศาสตร์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต" (Improving other important skills such as leadership, communication, economics and lif-long learning) และ "หลักปฏิบัติที่ดีในการเรียนการสอนในยุคข้อมูลข่าวสาร" (Best teaching practices in the information age) เป็นต้น
นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้จะมีการติดตามความคืบหน้าของผลการประชุมครั้งที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของการศึกษาด้านสัตวแพทย์ทั่วโลก รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ด้านขีดความสามารถของบัณฑิตสัตวแพทย์ และหลักสูตรหลักของการศึกษาด้านสัตวแพทย์ และจัดให้มีการหารือเรื่องโครงการจับคู่ (OIE Twinning Programme) ของสถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์ และการจับคู่ของสัตวแพทยสภา ในประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น อันจะนำไปสู่พัฒนาการด้านการศึกษาที่เท่าเทียมกัน
รวมทั้งการใช้การประเมินสมรรถนะของงานสัตวแพทย์บริการ (OIE PVS Pathway) มาประกอบในประเมินคุณภาพการศึกษาด้านสัตวแพทย์ของประเทศ ก็จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงด้านธรรมาภิบาลดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ได้จัดให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาด้านสัตวแพทย์ โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นหนาขึ้นระหว่างสัตวแพทยสมาคม สถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์ และสัตวแพทยสภา มีการทบทวนการฝึกฝนด้านการสอนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการปรับปรุงการเข้าถึงเครือข่ายระดับโลก เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว
"ตนมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานและ ภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่เป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ในด้านปศุสัตว์ และประเทศไทยมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศ ในการจัดประชุมในครั้งนี้ " Dr. Modisane กล่าว
Dr. Modisane กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้มีการจัดการประชุมนานาชาติด้านการศึกษาทางสัตวแพทย์โลก มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2552 การประชุมครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2554 ที่ เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส สำหรับครั้งที่ 3 จัดที่เมืองฟอสโดอีกวาซู (Foz de Iguazu) ประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ ในปี 2556 และในปีนี้ประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ
" ปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อจากสัตว์เพิ่มมากขึ้น สัตวแพทย์ต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งต้องทราบถึงสาเหตุของโรค อาการของโรค ต้องรู้หลักการ และแนวทางในการป้องกันการเกิดโรค สัตวแพทย์ต้องมีศักยภาพในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน การแก้ไขปัญหาสารตกค้าง สิ่งปนเปื้อน ในอาหารที่ได้มาจากสัตว์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชากรโลก"