มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation - AF) ประเทศญี่ปุ่นติดต่อกันมาแล้วปีนี้เป็นปีที่ 5 ซึ่งถือเป็นทุนวิจัยที่ให้ความสำคัญกับวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าให้กับประเทศชาติใน 5 สาขา ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) สาขาสารสนเทศและระบบอัตโนมัติ (Information Sciences and Automatic Control) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment) และสาขาพลังงาน (Energy) โดยในปี 2559 นี้ มีนักวิจัยจาก มจธ. ได้รับทุนวิจัย ถึง 5 ท่าน 5 โครงการ ประกอบด้วย ผศ.ดร.สุเมธ เนติลัดดานนท์ วิศวกรรมไฟฟ้า, ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO), ผศ.ดร.ธีรนุช จันทโสภีพันธ์ วิศวกรรมเครื่องกล, คุณทิวา โอ่งอินทร์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) และ ดร.จิราภรณ์ เอื้อชลิตานุกูล วิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ
รวมทุนที่ได้รับในปี 2559 จำนวน 3 ล้านเยน หรือประมาณ 991,960 บาท เพื่อให้นักวิจัยไทยได้นำไปใช้ในการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นงานวิจัยที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วย สาขาพลังงาน ผศ.ดร.สุเมธ เนติลัดดานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ทุนในการพัฒนางานวิจัยเรื่อง "อินเวอร์เตอร์เรโซแนนซ์สามเฟสสำหรับการประยุกต์ใช้งานกับการให้ความร้อนเหนี่ยวนำกำลังสูง" โดยงานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องใช้พลังงานความร้อนที่สูง อาทิเช่น การให้ความร้อนสำหรับชุบแข็งผิวท่อโลหะที่มีขนาดยาว หรือการหลอมเม็ดพลาสติกในท่อยาวก่อนฉีดขึ้นรูป การใช้ขดลวดเหนี่ยวนำความร้อนชุดเดียวจะไม่สามารถทำให้ชิ้นงานได้รับความร้อนเท่ากันอย่างทั่วถึง จึงต้องมีการเพิ่มชุดขดลวดเหนี่ยวนำความร้อนย่อยเพื่อทำให้ท่อความร้อนเท่ากัน แต่เพื่อเป็นการลดต้นทุน จึงได้พัฒนาอินเวอร์เตอร์ความถี่สูงที่ออกแบบให้สามารถใช้เพียงแค่ชุดเดียวแต่สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าให้ขดลวดเหนี่ยวนำความร้อนได้หลายชุด เพื่อลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า และทำให้การกระจายของสนามแม่เหล็กที่ใกล้เคียงกันตลอดความยาวท่อ ส่งผลให้เกิดความร้อนอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพการให้ความร้อนแบบเหนี่ยวนำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สาขาสารสนเทศและระบบอัตโนมัติ 2 โครงการ ได้แก่ "งานวิจัยและพัฒนาระบบหุ่นยนต์ทำงานระยะไกลสำหรับการปฏิสนธินอกร่างกาย" โดย ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ซึ่งร่วมกับ ดร.ลลนา นันทการณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อที่จะพัฒนาการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization, IVF) ให้มีกระบวนการผสมตัวอ่อนที่มีความใกล้เคียงกับสภาวะของการปฏิสนธิในครรภ์มารดาให้มากที่สุด โดยใช้ความรู้ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการสร้างความอัจฉริยะให้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ ผศ.ดร.ธีรนุช จันทโสภีพันธ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้รับทุนสนับสนุน "การออกแบบกลไกยืดหยุ่นสำหรับแขนหุ่นยนต์แบบดัดแปลง" เพื่อพัฒนาแขนกลซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีข้อจำกัดในการทำงาน หยิบ จับวัตถุที่อยู่ในที่โล่งกว้าง โดยเพิ่มขอบเขตการทำงานและเพิ่มความยืดหยุ่น ให้แขนกลสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากบางตำแหน่ง เช่น การล้วงเข้าไปหยิบจับในพื้นที่แคบๆ ซับซ้อนมากขึ้น จึงออกแบบแขนกลให้มีพื้นที่การทำงานครอบคลุมมากขึ้น สามารถต่อยอดนำไปใช้ได้ทั้งวงการแพทย์เช่นการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดแบบส่องกล้อง และใช้กับหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่ทำงานแบบจำกัดได้
สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ทางด้านสัตว์ป่า และพันธุ์พืช คุณทิวา โอ่งอินทร์ นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ (สรบ.) มจธ. หัวหน้า "โครงการประเมินการกระจายตัวของนกกระทาป่าในภาคใต้ของประเทศไทย" ซึ่งนักวิจัยสนใจการเปลี่ยนแปลงประชากรของนกกระทาป่า 5 ชนิด ได้แก่ นกกระทาดงปักษ์ใต้ นกกระทาดงอกเทา นกกระทาสองเดือย ไก่จุก และไก่นวล (เป็นชื่อชนิดของนกกระทาป่า) เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่มีข้อมูลวิชาการเพื่อใช้ในการปรับปรุงสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของนกกระทาป่าให้เป็นปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้จัดทำโครงการสำรวจเพื่อประเมินนกกระทาป่าดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ป่าภาคใต้ของไทย ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้ข้อมูลการกระจายตัวของนกกระทาป่ายังบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำมาทำการเกษตร เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในขณะที่นกกระทาเป็นสัตว์ป่าที่หากินตามพื้นดิน บินได้ในระยะทางใกล้ๆ และเป็นนกประจำถิ่น จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคุกคามดังกล่าว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้จะถูกนำไป เปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตที่ถูกจัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553
สาขาวัสดุศาสตร์ งานวิจัยทางด้านอุตสาหกรรม ดร.จิราภรณ์ เอื้อชลิตานุกูล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ ได้รับทุนให้ทำการศึกษาวิจัย "ผลของการเติมเถ้าหนักต่อโครงสร้างจุลภาคของวัสดุเสียดทานเนื้อพื้นบรอนซ์ที่ผ่านการซินเตอร์" เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เถ้าหนักเป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุเสียดทานที่มีความทนทาน เพื่อนำมาใช้ในอุปกรณ์คลัตช์ สำหรับยานยนต์ที่ต้องใช้การบรรทุกหนัก หรือใช้ความเร็วสูงประเภทรถบรรทุกหรือรถแข่งในสนาม โดยทุนนี้จะนำไปทำการวิจัยต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ ดร.จิราภรณ์ และทีมวิจัยค้นพบว่าเถ้าหนัก (Bottom Ash) วัสดุพลอยได้จากกรรมวิธีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน หรือขยะจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีคุณสมบัติที่น่าจะเหมาะสมและสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมในคลัตช์ได้
โดย ดร.จิราภรณ์ กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าว นอกจากจะเป็นประโยชน์ด้านการเพิ่มพูนประสบการณ์แก่นักศึกษาแล้ว ถือเป็นการช่วยระบายกากของเสียที่ไม่ใช้แล้วของโรงไฟฟ้าถ่านหินเอามาใช้ประโยชน์ โดยหากงานวิจัยชิ้นนี้สำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศไทย เพราะแม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตยานยนต์ แต่ก็เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นับเป็นการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยด้วย