"แม้ทางตัวแทนซีทีเอชจะมาชี้แจงโดยวาจา แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ อนุกรรมการฯ ยังไม่สามารถพิจารณาแผนเยียวยาสมาชิกได้ว่าเป็นธรรมหรือไม่ หวังว่าทางซีทีเอชจะทำตามขั้นตอนกฎหมายให้เรียบร้อยก่อนยุติบริการ ไม่เช่นนั้นจะกระทบตัวบริษัทเองในระยะยาว เพราะจะมีคดีผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ฟ้องร้องศาลแพ่งด้วย" สุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณากำหนดมาตรการทางปกครองเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่องพีซ ทีวี จากการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาต้องห้ามตามกฎหมาย (รายการ "เข้าใจตรงกันนะ" วันที่11 มี.ค.และ 21 มี.ค. 59 รายการ "เข้มข่าวดึก" วันที่ 24 มี.ค. 59 และรายการ "ห้องข่าวเล่าเรื่อง" วันที่ 28 มี.ค. 59) ซึ่งภายหลังจาก พีซ ทีวี ได้ยื่นหนังสือคัดค้านความเห็นของอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 59 ต่อมา สำนักงานได้มีการเชิญผู้แทน 3 หน่วยงาน ได้แก่ หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานการรักษาความเรียบร้อย คสช. ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาร่วมให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมการด้านผังรายการฯ ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า กสท.ควรนำความเห็นรายงานผลการตรวจสอบและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิพลเมืองและเสรีภาพของสื่อมวลชน กรณี กสท. มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศช่องพีซ ทีวี เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 58 จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มาพิจารณาเพิ่มเติม ในรายงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา กรณีช่องพีซ ทีวี ว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลกิจการพิจารณามติการเพิกถอนใบอนุญาต ช่องพีซ ทีวี มีลักษณะการใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่เป็นไปตามหลักการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน รวมทั้ง เสนอให้ กสท.ควรวางหลักเกณฑ์เป็นแนวปฏิบัติในการพิจารณาลักษณะของเนื้อหารายการที่ห้ามมิให้ออกอากาศตามนัยมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของผู้ประกอบการโทรทัศน์และสาธารณชน รวมทั้งวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจพิจารณาโทษทางปกครองให้มีความเหมาะสมตามความผิดและมีมาตรฐานการพิจารณาในกรณีการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน
"ข้อเสนอแนะจากรายงานของ กสม. เป็นสิ่งที่ กสท.ควรจะพิจารณา ในการจัดทำแนวปฎิบัติที่ชัดเจนและเป็นธรรม หาจุดสมดุลย์ระหว่าง กฎหมายความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน ก่อนการใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องความไม่เป็นกลางทางการเมืองหรือการเลือกปฏิบัติกับบางฝ่าย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประเทศไทยไม่มีฝ่ายค้านในรัฐสภา ดังนั้นการใช้สื่อเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐก็ไม่ควรถูกปิดกั้นจนไม่เหลือพื้นที่ในการแสดงออกเลย" สุภิญญา กล่าว
วาระอื่นๆ น่าจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ การพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง วาระรายงานการดำเนินการของคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาด้านการใช้คลื่นความถี่ในการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล วาระเพื่อทราบคำสั่งศาล ลงวันที่ 17 มิ.ย. 59 อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดี บริษัทไทยทีวี จำกัด ถอนฟ้องตามคำขอและจำหน่ายคดีปกครองหมายเลขดำที่ 241/2558 ออกจากสารบบความเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 59 ติดตามความคืบหน้าวาระอื่นๆ ในการประชุมวันที่ 4 ก.ค.นี้...