นายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตภายใต้ระบบสุขภาพระดับอำเภอมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการยึดประเด็นสุขภาพที่มาจากความต้องการ และสภาพบริบทของพื้นที่เป็นสำคัญ วิเคราะห์เชื่อมโยงถึงประเด็นสุขภาพจิตที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นสุขภาพสำคัญนั้นๆ แล้วดำเนินงานควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างครบวงจร กาย จิต และสังคม ครอบคลุมทุกมิติในทุกกลุ่มวัยนั้น เกิดเครือข่ายในระบบสุขภาพระดับอำเภอร่วมดำเนินงานสุขภาพจิต จำนวนทั้งสิ้น 890 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 มากกว่า ร้อยละ 50 ที่มีอยู่ 563 แห่งทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เข้าร่วมมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และชุมชนใน กทม. ประเด็นสุขภาพที่หลายพื้นที่มองว่าเป็นปัญหาและเลือกมาเป็นประเด็นสุขภาพสำคัญในการดำเนินงานร่วมกัน ในปี 2559 มีมากถึง 1,190 ประเด็น จากเดิม 570 ประเด็น ในปี 2558 ประเด็นสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสำคัญที่หลายพื้นที่เลือกนำมาเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินงานมากที่สุด เช่น ปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ติดบ้าน ติดเตียง รองลงมา ได้แก่ ประเด็นในวัยทำงาน เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง มีปัญหาสุรา ยาเสพติด ตามมาด้วยประเด็นวัยรุ่น เช่น การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปัญหาสุรา ยาเสพติด และพฤติกรรม ประเด็นผู้ป่วยจิตเวช เช่น การเข้าถึงบริการ โรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และโรคจิตเภท รวมทั้ง ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเด็กปฐมวัยและวัยเรียน เช่น ปัญหาพัฒนาการเด็ก IQ-EQ และปัญหาพฤติกรรม โดย อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายสำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต ออกแบบกลไกการดำเนินงานบูรณาการงานสุขภาพจิตเข้ากับประเด็นสุขภาพในระบบสุขภาพระดับอำเภอให้มากที่สุด ตั้งแต่หลักการสำคัญของการดำเนินงาน เกณฑ์ในการคัดเลือก วิธีการขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตในพื้นที่ ตลอดจนติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอเพื่อนำมาพัฒนา ปรับปรุงและออกแบบแนวทางการดำเนินงานสุขภาพจิตในระบบสุขภาพระดับอำเภออย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 – 13 ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ สื่อเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำในการวิเคราะห์เชื่อมโยงประเด็นสุขภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เพื่อให้เครือข่ายสามารถดำเนินงาน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตควบคู่กันไปได้
ด้าน นางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิถุนายน ณ โรงแรม ปรินซ์พาเลซ กทม. เพื่อเป็นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบูรณาการประเด็นสุขภาพจิตตามกลุ่มวัยสู่ระบบสุขภาพระดับอำเภอ ตลอดจนให้ความชื่นชมเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอที่มีผลการดำเนินงานสุขภาพจิตที่ดีเยี่ยมเกิดเป็นต้นแบบให้กับภาคีเครือข่ายในการประยุกต์งานสุขภาพจิตเข้ากับการดำเนินงานภายใต้ระบบสุขภาพระดับอำเภอต่อไป โดย มีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกรมสุขภาพจิต เครือข่ายสุขภาพอำเภอจากทั่วประเทศ แกนนำชุมชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 600 คน สำหรับ กระบวนการดำเนินงานสำคัญในการดำเนินงานสุขภาพจิตในระบบสุขภาพระดับอำเภอ ประกอบด้วย การคัดเลือกพื้นที่ที่มีความสนใจเข้าร่วม โดยสามารถกำหนดประเด็นสุขภาพสำคัญได้ตามบริบทจริงของพื้นที่ การประชุมชี้แจงและจัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพทีมนำในระดับอำเภอ ตลอดจนทีมนำในแต่ละพื้นที่ให้สามารถกลับไปขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในพื้นที่ต่อไปได้ ปัจจุบันพัฒนาทีมนำไปแล้ว จำนวน 232 คน จาก 155 อำเภอทั่วประเทศ การสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานสุขภาพจิตในพื้นที่ โดยมีศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 – 13 เป็นตัวแทนกรมสุขภาพจิตให้การสนับสนุนเครือข่ายในพื้นที่ และการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมทั้งให้กำลังใจภาคีเครือข่ายในพื้นที่ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และชื่นชมยินดี เชิดชูผลการดำเนินงาน แก่เครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ และ การจัดเวทีสรุปผลและถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงาน สร้างการมีส่วนร่วมในการออกแบบปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในชุมชน