คุณสุภชา ศิริวงศ์ยิ่งเจริญ คณะอนุกรรมการสาขาวิชาการวิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ของงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่แก่บุคลากรในวงการอุตสาหกรรมออกแบบและก่อสร้างของประเทศไทย วิศวกร สถาปนิก และผู้รับเหมา ตลอดจนผู้บริหารโครงการ วสท.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสถานีรถไฟบางซื่อเป็นสถานีหลัก ซึ่งมุ่งลดจำนวนขบวนรถไฟที่จะเข้าสู่สถานีหัวลำโพงให้เหลือน้อยที่สุด ต่อมาได้มีการปรับขอบเขตโครงการให้เพิ่มปริมาณความจุของทางและการเดินรถที่ความเร็วสูงขึ้น สะดวก ปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาสถานีบางซื่อให้เป็นสถานีกลาง โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ย่านพหลโยธินเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานครด้านเหนือ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการสานต่อโครงการระบบการขนส่งทางราง ตามนโยบายรัฐบาล จึงได้มีการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการ และปรับแบบรายละเอียด เพื่อให้สามารถรองรับต่อการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ใช้บริการในระบบรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง อีกทั้งมีขีดความสามารถในการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าในโครงข่ายเดียวกัน และเชื่อมโยงการเดินทางของระบบรถไฟและโครงข่ายระบบขนส่งอื่นๆ อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการ และประหยัดค่าเชื้อเพลิงการขนส่ง นับเป็นแนวทางแก้ปัญหาการขนส่งและจราจรอย่างยั่งยืน
ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย 1.สถานีกลางบางซื่อ องค์ประกอบอาคารมีดังนี้ ชานชาลารถไฟฟ้าชานเมือง 4 ชานชาลาและชานชาลาสำหรับอนาคต 8 ชานชาลา ทั้งหมดอยู่ชั้น 3 ชานชาลารถไฟทางไกล 12 ชานชาลา บนชั้น 2 ของสถานี ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารพร้อมอาคารทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครที่ชั้นล่าง และที่จอดรถใต้อาคารสถานี2.สถานีจตุจักรพร้อมอาคารสถานี ได้แก่ ทางรถไฟยกระดับบนโครงสร้างคานสำเร็จรูปทรงกล่องพาดบนหัวเสาคอนกรีต หรือ กรอบคานเสาคู่ทางรถไฟยกระดับบนฐานเสาเข็มจาก กม.6+600 ถึง กม.12+201.700, ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ลานจอดรถไฟ (ไม่รวมงานวางราง) และอาคารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการเดินรถ, ถนนสะพานยกระดับเข้า – ออกสถานี และระบบระบายน้ำ รวมถึงงานดัดแปลงปรับปรุงหรือรื้อย้ายโครงสร้างในโครงการต่างๆ
ดร. วิรัช รุ่งโรจน์สารทิศ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือ รถไฟฟ้าถือเป็นแนวทางการบรรเทาปัญหาการจราจรภายในเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากสามารถขนส่งผู้โดยสารได้คราวละจำนวนมากถึง 1,000 คนต่อขบวน ประหยัดพลังงานในการเดินทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นการลดภาวะโลกร้อน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหนึ่งองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า จึงได้ดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนในแผนแม่บท ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 โดยดำเนินการก่อสร้างโครงการด้วยเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) โดยผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 และ 2 เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จะให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่ทันสมัย มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ทำให้การเดินทางระหว่างย่านกลางเมืองและชานเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งขยายความเจริญไปยังย่านชานเมือง ช่วยลดความแออัดของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี
ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีจุดเริ่มต้นโครงการที่สถานีบางซื่อ กม.6+000 (จากหัวลำโพง) บริเวณสามแยกประดิพัทธ์ประมาณ 1.8 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของสถานีบางซื่อ ไปตามแนวเขตทางรถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ผ่านเขตจตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี ระยะทางรวมประมาณ 26.3 กิโลเมตร โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะต่อขยายไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยการก่อสร้างเป็นทางยกระดับจากบางซื่อ (กม.6+000) ไปยังดอนเมือง (กม.25+232) ระยะทาง 19.2 กิโลเมตร และลดระดับลงอยู่ระดับพื้นดินจากสถานีดอนเมือง (กม.25+232) ถึงรังสิต (กม.32+350) ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร โดยมีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางจากดอนเมืองถึงรังสิต ทางรถไฟมีขนาด 1.000 เมตร (Meter Gauge) เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายเหนือในปัจจุบัน
การลงพื้นที่สำรวจดูงานโครงการก่อสร้างในส่วนของงานติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิตในครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ทำให้บุคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างและคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ตลอดจนประชาชนได้เรียนรู้ถึงกระบวนการก่อสร้างในส่วนของงานติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต