ภายในงานมีการนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการธนาคารปูม้าและทรัพยากรทางทะเลและทะเลชายฝั่ง ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมถึงเทคนิคการเพาะปูม้าเพื่อเพิ่มผลผลิตแบบคุณภาพ และการทำประมงปูม้าอย่างมีความรับผิดชอบโดยการเลือกใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อทรัพยากรทางทะเล เพื่อการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืน โดยมี ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คุณวิโรจน์ คงอาษา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง สงขลา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และตัวแทนชุมชนชายฝั่งทะเลจังหวัดสงขลา กว่า 40 คน เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้
นอกจากนี้ คุณยุทธชัย เตชะวิจิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ- กลยุทธ์การตลาด ตัวแทนจาก บริษัท ที เอส เอ็น ไวร์ จำกัด (TSN Wires) ได้นำเสนอข้อมูลและมอบผลิตภัณฑ์เครื่องมือประมงประเภทลอบปูม้าที่ผลิตจากลวดเซนเทค (SENTEC) นวัตกรรมจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง คุ้มค่า คงทน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 2-6 เท่า และมีอายุการใช้งานนานกว่า 3 ปี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานของกลุ่มเกษตรกรชาวประมงเรือปูโดยเฉพาะ พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ควบคุมออกซิเจน สำหรับการดำเนินกิจกรรมธนาคารปูม้าให้กับชุมชนเครือข่ายธนาคารปูม้า ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช และปัตตานี โดยมี คุณชำนาญ มานิล หัวหน้ากลุ่มธนาคารปูม้า ป.ทรัพย์อนันต์ เป็นตัวแทนรับมอบ
การสนับสนุนกิจกรรมธนาคารปูม้า เป็นหนึ่งในพันธะสัญญาของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ โดยมีส่วนร่วมสร้างกิจกรรมในชุมชน ด้วยจิตสำนึกของการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การส่งเสริมกิจกรรมการบริหารจัดการ "ธนาคารปูม้า" ในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของการร่วมเป็นพันธมิตรเครือข่ายชุมชน ในการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าให้กับท้องทะเลไทย ควบคู่กับการผลิตลวดที่มีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการผลิตเครื่องมือลอบปูม้าที่มีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานที่กำหนดของกรมประมง ซึ่งนอกจากก่อประโยชน์กับธรรมชาติ ยังเพิ่มรายได้ให้กับชาวประมงและเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนเพิ่มปริมาณปูม้าที่มีคุณภาพให้กับคนไทยได้บริโภคไปอีกยาวนาน