การลงนามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมี ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร. สุบิน ปิ่นขยัน ประธานคณะกรรมการอำนวยการสถาบันเอไอที ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเอไอที และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.
ศ. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของ สวทช. ได้ยกตัวอย่างและเปรียบเทียบถึงเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เอ็มไอที และมหาวิทยาลัยทัฟส์ ร่วมมือกันในลักษณะแข่งขันซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับความร่วมมือระหว่าง สวทช.และสถาบันเอไอที ครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะไปในทิศทางดังกล่าว
ดร.ทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวทช. ได้เน้นถึงความสำคัญของการทำงานกับพันธมิตรเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยสวทช.มีนักวิจัยที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกเกือบ 500 คน ทำงานเป็นนักวิจัย ที่สามารถให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงแก่นักศึกษาสถาบันเอไอที และยังเสริมอีกว่า สวทช. ยินดีรับนักศึกษาเอไอทีเข้ามาทำวิจัยใช้เครื่องมืออุปกรณ์และใช้ห้องปฏิบัติการ ดร.ทวีศักดิ์ยังส่งสัญญาณไปถึงการมุ่งหน้าสู่โครงการ Food Innopolis โดยกล่าวว่านี่จะเป็นอีกโอกาสทองสำหรับ สวทช.และสถาบันเอไอทีในการทำงานร่วมกัน
ในโอกาสเดียวกัน ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย อธิการบดีสถาบันเอไอทีได้กล่าวถึงประวัติของสถาบันเอไอที โดยย้อนรำลึกถึง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการคนแรกของสถาบันเอไอที ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นให้ระบุพื้นที่ๆเหมาะสมเพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งแห่งใหม่ของสถาบันเอไอที ซึ่งดร.ป๋วยได้เลือกพื้นที่ขนาด 2000 ไร่ที่รังสิต โดยหวังว่าจะกลายเป็น "ศูนย์กลางความรู้ที่ทันสมัย"
ใน พ.ศ. 2534 ศ. อลาสแตร์ นอร์ธ อธิการบดีสถาบันเอไอทีในขณะนั้น พยายามโน้มน้าวรัฐบาลไทยเกี่ยวกับความคิดเรื่อง "อุทยานเทคโนโลยี" ซึ่งในภายหลังได้นำไปสู่การสร้าง "อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย" ใน พ.ศ. 2535 โดยทั้งสถาบันเอไอทีและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันจัดสรรเนื้อที่จำนวน 200 ไร่ของแต่ละสถาบันให้ใช้เป็นพื้นที่สร้างสวทช. "มันเป็นการมองการณ์ไกลของท่านดร.ป๋วย และได้รับการสนับสนุนโดยอดีตอธิการบดีของสถาบันเอไอที ที่จะพลิกโฉมสร้างพื้นที่สวยงามแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของประเทศไทย ข้อตกลงนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การเติมเต็มวิสัยทัศน์ดังกล่าวของท่าน" ศ.วรศักดิ์ กล่าว
ดร. ฮิโรยูกิ โคนูมะ ที่ปรึกษาอาวุโสของอธิการบดีสถาบันเอไอทีและอดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ทำปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ความมั่นคงทางอาหารของโลกและบทบาทของงานวิจัยและวิทยาศาสตร์" โดยกล่าวว่า ในขณะที่ FAO ทำนายถึงความเป็นไปได้ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 จะมีการผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 60% โดยส่วนใหญ่จะมาจากพื้นดินที่ทำการเพาะปลูกได้ อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าในงานวิจัยทางการเกษตร นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการเพิ่มผลผลิต แต่ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องมาจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่นๆที่ไม่สามารถทำนายได้ "ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆนี้ งานวิจัยด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากที่สุดในความท้าทายด้านการพัฒนาของเรา" ดร. โคนูมะ กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ยังให้เกียรติทำการปาฐกถาพิเศษอีกด้วย
ในเบื้องต้น ผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยที่จะมารับหน้าที่ที่สถาบันเอไอทีจะมาจาก BIOTEC, ศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), ศูนย์ เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และ NANOTEC โดยนักวิจัยเหล่านี้จะมารับตำแหน่งอาจารย์ประจำแบบพิเศษที่สถาบันเอไอที
ในภาพจากซ้าย: ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ดร. สุบิน ปิ่นขยัน และศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย