ฟิทช์คงอันดับบริษัทจัดการกองทุนบลจ.ไทยพาณิชย์ที่ 'Highest Standards (tha)’

พฤหัส ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๑๖ ๑๔:๐๘
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ 'Highest Standards (tha)' แนวโน้มอันดับบริษัทจัดการกองทุนมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับบริษัทจัดการกองทุน

อันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM สะท้อนถึงการที่บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแรงในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนและมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ที่มีการกระจายตัวที่ดี และยังสะท้อนถึงกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงหลายระดับ และการที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB; อันดับเครดิต 'AA(tha)'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/'F1+(tha)') โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนบริษัทเป็นอย่างดีและมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ อันดับบริษัทจัดการกองทุนยังสะท้อนถึงการที่ SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีพร้อม และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ที่มีความพร้อมสูง อย่างไรก็ตามบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงในปี 2557 และ 2558 และมีประเด็นเรื่องการปฏิบัติการการลงทุนในบางเรื่อง โดยเฉพาะข้อผิดพลาดในปี 2558 ในด้านการเป็นนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้ถูกโอนไปให้ SCB ทำแทน

อันดับบริษัทจัดการกองทุนที่ 'Highest Standards (tha)' ของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆในการจัดอันดับที่แสดงไว้ด้านล่าง

บริษัทและบุคลากร: High

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: Highest

การบริหารจัดการการลงทุน: High

การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุน: Highest

ประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ: Highest

อันดับบริษัทจัดการกองทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น 'Good Standards' 'High Standards' หรือ 'Highest Standards' โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับภายในประเทศที่ระดับ 'Highest Standards (tha)' แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

บริษัทและบุคลากร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้ SCBAM มีคณะผู้บริหารระดับสูงที่มีประสบการณ์สูง มีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลาย และมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมี AUM มูลค่ารวมอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 ฟิทช์คาดว่าการที่ SCBAM ได้มุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนสถาบันมากขึ้นโดยเฉพาะกองทุนส่วนบุคคล จะทำให้ AUM ของบริษัทมีการกระจายตัวมากขึ้นในปี 2559 ถึง 2560

SCBAM ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวของบริษัท โดย SCB ให้การสนับสนุนในด้านสายงานต่างๆอาทิ การบริหารจัดการความเสี่ยง การตรวจสอบภายใน การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน และด้าน IT และธนาคารยังคงเป็นตัวกลางในการจำหน่ายกองทุนสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าสถาบันที่กำลังขยายตัวขึ้นของ SCBAM SCB ยังคงเป็นตัวกลางในการจัดจำหน่ายกองทุนรวมของ SCBAM เป็นหลัก โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของกองทุนรวมของบริษัทถูกจัดจำหน่ายผ่านสาขาของธนาคาร

อย่างไรก็ตามทาง SCBAM ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยภาพรวมอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกลดทอนลงจากการที่บุคลากรภายในบริษัทขึ้นดำรงตำแหน่งแทนผู้บริหารที่ได้ย้ายออกหรือลาออกไป

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงของ SCBAM มีหลายระดับ ซึ่งพิจารณาจากการที่บริษัทมีระบบบริหารความเสี่ยงที่เชื่อมต่อกัน พนักงานบริหารความเสี่ยงที่มีประสบการณ์ และกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงที่ครอบคลุม รวมถึงการทำการทดสอบภายใต้ภาวะวิกฤต การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางเครดิตของคู่สัญญา และการทำรายงานความเสี่ยงจากการปฏิบัติการการลงทุนและความเสี่ยงการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ การบริหารความเสี่ยงการลงทุนของ SCBAM เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการลงทุน และมีการวัดความเสี่ยงการลงทุนตามปัจจัยความเสี่ยงจากการลงทุนต่างๆ นอกจากนี้ SCB ยังเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยง และมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของ SCBAM ในด้านการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบ และการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัท ทางธนาคารเป็นผู้จัดหาบุคลากรให้กับทาง SCBAM

การบริหารจัดการการลงทุน

ฟิทช์มองว่ากระบวนการการลงทุนของบริษัทดีพร้อม โดยมีการติดตามและประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษร การวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึก และการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีหลักการ โดยทั้งหมดมีคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนเป็นผู้ดูแลและควบคุม จำนวนและประสบการณ์ของบุคลากรฝ่ายการลงทุนมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์ที่บริหารจัดการ โดยมีบุคลากรสำหรับการวิเคราะห์ที่พอเพียง และมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจน ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการการบริหารจัดการการลงทุนหุ้น เพื่อเพิ่มความชัดเจนในการหาแหล่งที่มาของผลประกอบการและมุ่งเน้นหาผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาด (alpha) มากขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2558 การลงทุนในบางกองทุนได้ผิดไปจากนโยบายที่ทางบริษัทประกาศไว้ในบางช่วงซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวของสกุลเงินต่างประเทศและการปรับมูลค่ากองทุนตามราคาตลาด ซึ่งฟิทช์มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเจตนาลงทุนผิดไปจากนโยบายและถือว่าเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหวของปัจจัยต่างๆในตลาดที่ควบคุมไม่ได้

การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุน

บริษัทมีบุคลากรด้านการปฏิบัติการที่พอเพียงเมื่อเทียบกับปริมาณและความซับซ้อนของธุรกรรมการซื้อขาย การลงทุนในหลักทรัพย์ และ ลูกค้าของบริษัท การบริหารจัดการการปฏิบัติการการลงทุนดังกล่าวมีปัจจัยสนับสนุนมาจากทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยี และทีมงานที่มีประสบการณ์สูง รวมถึงบุคลากรที่ได้แบ่งแยกตามสายงานอย่างชัดเจน นอกจากนี้ SCBAM ยังได้รับประโยชน์จากระบบที่เชื่อมต่ออัตโนมัติที่อยู่ในระดับสูง ในด้านการเปิดเผยข้อมูลในรายงานที่เผยแพร่แก่ลูกค้าถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎข้อบังคับของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย และใกล้เคียงกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจัดการกองทุนอื่น ฟิทช์คาดว่าหลังจากที่บริษัทเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติการข้อมูลของระบบสายงานส่วนหลัง และโยกย้ายข้อมูลที่ไม่สำคัญออกจากระบบตามแผนงานที่บริษัทได้วางไว้ในช่วงหนึ่งปีข้างหน้า ระบบสายงานส่วนหลังของ SCBAM จะมีการทำงานได้ดีขึ้นอีก อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้เผชิญกับปัญหาที่เกิดจากฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในส่วนงานนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยี

SCBAM ได้ประโยชน์จากการที่มีระบบ IT ที่เชื่อมต่อกัน โดยมีการยกระดับระบบต่างๆอย่างสม่ำเสมอ มีแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และบุคลากร IT ที่มีประสบการณ์สูง นอกจากนี้ทาง SCB ได้จัดบุคลากร IT เฉพาะสำหรับสายธุรกิจบริหารจัดการกองทุน โดยบุคลากรเฉพาะเหล่านี้มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาระบบ IT ของ SCBAM

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับบริษัทจัดการกองทุนในอนาคต

อันดับบริษัทจัดการกองทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลง อัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือ กระบวนการการลงทุนและนโยบายการบริหารจัดการที่แย่ลง ทั้งนี้การเบี่ยงเบนที่มีสาระสำคัญของปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับจากหลักเกณฑ์ของฟิทช์ อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับบริษัทจัดการกองทุนได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version