นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาก ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มักเกิดการสูญเสียมวลดินจากการชะล้างพังทลาย ทำให้สูญเสียหน้าดินที่มีธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุในดิน ทำลายโครงสร้างของดิน จนส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์และความสามารถในการให้ผลผลิตของดินลดลง และอาจจะเป็นปัญหาดินถล่มได้เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากเป็นปัจจัยหลักมากระตุ้น ปัจจุบันการเกิดดินถล่มในประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความถี่มากขึ้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะรูปแบบของฝนเปลี่ยนแปลงไป เช่น ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณฝนตกน้อยลงส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีการตกอยู่บริเวณเดิมเป็นระยะเวลานาน และอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอันเนื่องมาจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยขาดการจัดการพื้นที่ที่ดี การเปลี่ยนแปลงพืชปกคลุมดินไปเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการปลูกยางพารา โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เทือกเขาสูงหรือพื้นที่ลาดชันเชิงเขา
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ดำเนินงานในการป้องกัน และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาดินถล่ม ด้วยการจัดทำแผนที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากดินถล่ม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงความสูญเสียหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตร การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มและใช้ในการกำหนดเขตอนุรักษ์ดินและน้ำ ตาม พ.ร.บ. พัฒนาที่ดิน 2551 จัดทำโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสี่ยงดินถล่มโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวในการป้องกันพื้นที่เกษตรที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม เพื่อป้องกันและฟื้นฟูสภาพพื้นที่ต้นน้ำให้คงสภาพนิเวศน์ที่สมบูรณ์ จัดทำระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมในพื้นที่เกษตรร่วมด้วยการปลูกหญ้าแฝก จัดทำคันคูรับน้ำรอบขอบเขา ทำทางลำเลียงร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก เพื่อชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลลงมาจากด้านบน สนับสนุนให้มีการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจโตเร็วและโตช้า ที่มีระบบรากแก้วเพื่อช่วยยึดดิน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่ง ทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม ได้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยของการเกิดดินถล่ม เรียนรู้การดูแผนที่หมู่บ้านเสี่ยงภัยให้ทราบว่าหมู่บ้านหรือพื้นที่ของตนเอง มีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มหรือไม่ หากเกิดมีความเสี่ยงแล้วเกษตรกรจะสามารถป้องกัน และบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้