การที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศร่วมเป็นสมาชิก 197 ประเทศ การดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวหลัก ๆ แล้ว มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาความสามารถการปรับตัว และสร้างความรู้หรือความตระหนักแก่ประชาชนโดยทั่วไป โดยประเทศไทยได้มีความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุม จัดส่งรายงาน รวมทั้งนโยบายและแผนการปฏิบัติการเพื่อการการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และได้เสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020
สำหรับสถานการณ์ในระดับนานาชาติ ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมกันจัดทำ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)วัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นขึ้น การจะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศโดยการลงสัตยาบัน (ratification) อย่างน้อย 55 ประเทศ และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย ร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก มีประเทศภาคีลงสัตยาบัน 18 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ระหว่างวิเคราะห์สถานการณ์และพิจารณาการลงสัตยาบรรณภายใต้ข้อตกลง
นอกจากนี้ ในการเข้าร่วมประชุมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2559 ณ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมัน ระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม2559 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ได้ร่วมประชุมติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร โดยประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่มประเทศ G77-China เสนอให้นานาประเทศเพิ่มการให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายของโลกต่อไป รวมทั้งกระตุ้นให้มีการเสริมสร้างการปรับตัวในทุกมิติ ซึ่งในส่วนภาคเกษตร กลุ่มประเทศอาเซียนได้มีการแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการดำเนินการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารและภาคการผลิตอื่น ๆ รวมทั้งระบบนิเวศซึ่งต้องมีการสร้างระบบข้อมูลการเกษตรที่เหมาะสม (Good-practice) และฐานข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ภาคเกษตรสามารถรับมือและเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง
นายสุรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร ปี พ.ศ. 2560 - 2564 โดยได้ดำเนินการสังเคราะห์และทบทวนผลการปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา (2555 - 2557) รวมทั้งประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคการศึกษา เพื่อศึกษาห่วงโซ่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการปรับตัวของภาคการเกษตร เพื่อให้ภาคเกษตรมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง