ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการดื่มน้ำอัดลม ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19 ถึง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,170 คน
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวว่า น้ำอัดลมจัดเป็นเครื่องดื่มประเภทหนึ่งที่ผู้คนในสังคมให้ความนิยมมาก เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดับกระหายคลายร้อนและสร้างความสดชื่นทำให้หายง่วงได้ ขณะเดียวกันยังมีราคาที่ไม่แพงเกินไปและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป รวมถึงมีลักษณะบรรจุภัณฑ์และขนาดต่างๆให้เลือกซื้อได้ ด้วยเหตุดังกล่าวผู้คนจึงนิยมซื้อน้ำอัดลมดื่มนอกเหนือจากเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้หรือชากาแฟ
แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยและข้อมูลทางสาธารณะสุขที่ระบุถึงอันตรายต่อสุขภาพหากดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป ทั้งนี้เนื่องจากในเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมนั้นมีส่วนผสมประเภทน้ำตาลอยู่ในปริมาณพอสมควร จึงทำให้ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักถึงอัตรายกับสุขภาพหากตนเองดื่มน้ำอัดลมมากเกินไปและเริ่มคำนึงถึงปริมาณการดื่มน้ำอัดลมที่เหมาะสม ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐมีการเสนอแนวคิดการขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมซึ่งรวมถึงน้ำอัดลมเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพและลดปริมาณการดื่มลง
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการดื่มน้ำอัดลม
ศ.ดร.ศรีศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.68 เพศชายร้อยละ 49.32 ส่วนใหญ่มีอายุ 25 ถึง 34 ปีคิดเป็นร้อยละ 31.11 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 36.41 ระบุว่าตนเองดื่มน้ำอัดลมเป็นบางวัน ขณะที่ร้อยละ 28.03 ยอมรับว่าดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำทุกวัน ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.7 ระบุว่าดื่มเฉพาะโอกาสสำคัญ เช่น งานเลี้ยง งานฉลอง โดยกลุ่มตัวอย่างที่เหลือดื่ม 3 ถึง 6 วัน/สัปดาห์ และ 1 ถึง 2 วัน/สัปดาห์โดยเฉลี่ยซึ่งคิดเป็นร้อยละ 11.97 และร้อยละ 8.89 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุสำคัญสูงสุด 3 อันดับที่กลุ่มตัวอย่างดื่มน้ำอัดลมได้แก่ ดับกระหาย/คลายร้อนคิดเป็นร้อยละ 78.63 ทำให้สดชื่น/ทำให้หายง่วงคิดเป็นร้อยละ 76.15 และมีรสชาติดีกว่าน้ำประเภทอื่นคิดเป็นร้อยละ 74.1
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำชา และ น้ำอัดลม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 36.75 ระบุว่าตนเองดื่มน้ำเปล่ามากกว่าน้ำประเภทโดยเฉลี่ยในหนึ่งวัน รองลงมาดื่มน้ำผลไม้และน้ำอัดลมคิดเป็นร้อยละ 24.53 และร้อยละ 19.15 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.78 ดื่มน้ำชามากที่สุด โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.79 ระบุว่าดื่มพอๆกันทั้ง 4 ประเภท ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างน้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำชา และน้ำอัดลม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นิยมดื่มน้ำเปล่าในระหว่างมื้ออาหารมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 33.5 รองลงมาร้อยละ 25.73 และร้อยละ 20.43 นิยมดื่มน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ในระหว่างมื้ออาหารมากที่สุดตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.11 ระบุว่านิยมดื่มน้ำชา และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.23 นิยมดื่มพอๆกัน
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.91 นิยมซื้อน้ำอัดลมมาเก็บไว้ภายในที่พักอาศัย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.09 ไม่นิยม
ในด้านความรับรู้ต่ออันตรายจากการดื่มน้ำอัดลมหากดื่มมากเกินไป กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.06 ทราบว่าการดื่มน้ำอัดลมมากเกินไปจะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.94 ยอมรับว่าไม่ทราบ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.44 ยอมรับว่าถึงแม้จะทราบถึงอันตรายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ดื่มน้ำอัดลมมากเกินไปจะไม่ส่งผลให้ตนเองลดปริมาณการดื่มน้ำอัดลมลง
ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับราคา การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการกำหนดปริมาณส่วนผสมของน้ำอัดลมนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.91 มีความคิดเห็นว่าการขึ้นราคาน้ำอัดลมจะไม่ส่งผลให้ตนเองซื้อน้ำอัดลงน้อยลง อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.64 มีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดกับสุขภาพหากดื่มน้ำอัดลมมากเกินไปให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 65.04 มีความคิดเห็นว่าหากมีการห้ามมิให้โฆษณาน้ำอัดลมในสื่อสาธารณะต่างๆจะไม่ส่งผลให้ผู้คนซื้อน้ำอัดลมน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.74 เห็นด้วยหากจะมีการระบุคำเตือนให้ดื่มน้ำอัดลมในปริมาณที่กำหนดเพื่อไม่ให้ส่งผลอันตรายกับสุขภาพ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.14 มีความคิดเห็นว่าควรมีการกำหนดปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลมให้ต่ำกว่าที่มีการใช้ผสมอยู่ในน้ำอัดลมในปัจจุบัน