นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐกำลังผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. .... ว่า ขณะนี้ 9สมาคมผู้ผลิตสัตว์ปีก ประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อการส่งออก สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสัตว์ปีก สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เตรียมยื่นหนังสือคัดค้าน พรบ.ดังกล่าว ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เนื่องจากพบว่าหากมีการประกาศใช้ (ร่าง) พรบ. ดังกล่าว จะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะการกำหนดให้เก็บอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียมการรับรองให้จำหน่ายเนื้อไก่ เป็ด ห่าน จะส่งผลให้เกิดการหลีกเลี่ยง ไม่แจ้งการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกอย่างถูกต้องและลักลอบนำสัตว์ปีกไปชำแหละนอกโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมสัตว์ปีกทั้งระบบ กล่าวคือทำให้ระบบการควบคุมโรคระบาดในสัตว์ปีกของประเทศไทยเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันโรคไข้หวัดนก และผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงต่อการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ปลอดภัยและมีราคาสูงขึ้น การเรียกเก็บอากรดังกล่าวจึงขัดกับเจตนารมณ์ของ พรบ.ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานการฆ่าสัตว์ให้เป็นสากล และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์โดยสิ้นเชิง ตลอดจนไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการลดค่าครองชีพให้ประชาชน รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับสินค้าเกษตรของไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาครัฐให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก จึงไม่มีการเก็บอากรการฆ่าและค่าธรรมเนียมจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีก ส่งผลให้อุตสาหกรรมสัตว์ปีกของไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก นำเงินตราเข้าประเทศได้ปีละเกือบ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหาก(ร่าง)พรบ.ดังกล่าว ออกมาบังคับใช้จริงจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของภาคส่งออกและลดศักยภาพในการแข่งขันของไทยลงทันทีเนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตของไทยก็สูงกว่า บราซิล และสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว
นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ระบุว่าการเรียกเก็บอากรและค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรให้ต้องมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และเมื่อเกิดภาวะราคาเนื้อสัตว์ตกต่ำ เกษตรกรก็จะประสบภาวะขาดทุนมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ก็ประสบปัญหาราคาเนื้อไก่ตกต่ำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนปัจจุบันราคาก็ยังไม่ได้ขยับขึ้นเลย ซึ่งก็ไม่มีใครมาช่วยเหลืออะไร วัตถุดิบเลี้ยงไก่พวกข้าวโพดก็จะให้ซื้อแพงๆ แต้มซ้ำจะมาเก็บอากรอีก แล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่จะอยู่อย่างไร
ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในแจ้งการนำสัตว์ปีกเข้าโรงฆ่าทุกครั้ง โดยไม่มีการหลบเลี่ยง หากมีการเก็บค่าอากรค่าธรรมเนียม ก็เกรงว่าหากมีบางรายหลบเลี่ยงไม่แจ้งการเคลื่อนย้ายและเกิดโรคหวัดนกขึ้นมา จะส่งผลเสียร้ายแรงอย่างมาก ซึ่งถึงวันนี้เกษตรกรเลี้ยงไก่ยังจดจำวิกฤตหวัดนก ปี 47 ได้ไม่ลืม ดังนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาทบทวน ร่างพรบ.นี้ใหม่ อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมที่จะส่งผลกระทบ ต่อเกษตรกร ต่อผู้บริโภค และต่อประเทศชาติ
ด้านนายสุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มีข้อสงสัยเกี่ยวกับตารางแนบท้าย (ร่าง) พรบ.ดังกล่าว ที่มีการกำหนดค่าอากรฯ ไก่ ไว้สูงมากถึง 2 บาทต่อตัว หากคำนวณจากราคาไก่ที่ 90 บาทต่อตัว เท่ากับเสียอากรฯสูงถึงร้อยละ 2.22 ของมูลค่า ขณะที่ เมื่อเทียบกับโคที่มีมูลค่าถึงตัวละ 50,000 บาท กลับตั้งอากรฯไว้ที่ 20 บาทต่อตัว คิดเป็นร้อยละ 0.04 ของมูลค่า หรือสุกรตัวละ 7,500 บาท ตั้งอากรไว้ที่ 15 บาทต่อตัว คิดเป็นร้อยละ 0.2 ซึ่งไม่รู้ว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรมากำหนดถึงตั้งอากรสำหรับไก่สูงขนาดนี้ และตั้งสูงๆ ไปเพื่ออะไรถ้าหากมีการประกาศใช้จะเกิดผลกระทบตามมามากมายแน่นอน